สังคมก้มหน้า : Am I addicted to social media?

21 Apr 2017

ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่มักรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือวิตกกังวล ทุกครั้งที่ไม่สามารถเข้าไปใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ได้ตามปกติ? แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน บอกว่าคุณกำลังเสพติดสื่อออนไลน์หรือไม่?

 

จากสถิติการใช้งานสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียในบ้านเรา อาจพูดได้ว่า คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

โดยสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด นั่นก็คือ Facebook ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 41 ล้านคน คิดเป็น 60% ของประชากรในประเทศ และมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้กับคุณภาพของการใช้ อาจไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป เพราะหลายๆ ครั้งที่เรามักพบเห็นรูปแบบการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เช่น การแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคาย การโพสต์รูปภาพยั่วยวนอนาจาร เป็นต้น ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม เริ่มแสดงความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปริมาณและความถี่ในการใช้งาน เพราะเราเองก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราก็มักพบแต่คนก้มหน้าหยิบโทรศัพท์มือถือออกมา แชท โพสต์ภาพ เช็คอินในโลกโซเชียล หรือแม้แต่ตามสอดส่องข้อมูลว่าใครกำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร!

งานวิจัยในต่างประเทศที่ศึกษาพฤติกรรมการเสพติดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดโดยตรง พบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมการเสพติดสิ่งหนึ่งสิ่งใด มักจะมีความหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น จนเกิดปัญหาตามมา โดยสามารถจำแนกออกเป็นอาการย่อยๆ ได้แก่

 

  1. มักจะมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น หรือสิ่ง ๆ นั้นอยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้ทำพฤติกรรมนั้น ๆ อยู่ก็ตาม ถ้าหากมองถึงการใช้โซเชียลมีเดีย คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่ในช่วงระหว่างวัน มักคิดวนเวียนอยู่ตลอดว่า มีใครติดต่อคุณผ่านโซเชียลมีเดีย มีใครโพสต์อะไรอื่นๆ ที่คุณยังไม่ทราบในโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่คุณมีความต้องการที่จะเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา
  2. มักมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างฉับพลัน เมื่อได้ทำพฤติกรรมนั้น ๆ เช่น เมื่อได้ใช้โซเชียลมีเดียแล้ว รู้สึกผ่อนคลายทันที กระปรี้กระเปร่าทันที หรือพูดง่าย ๆ คือ คุณพึ่งพาโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างอารมณ์ที่ดีบางอย่างให้เกิดขึ้นหรือไม่
  3. ความรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่ได้ทำพฤติกรรมนั้น ๆ คุณเคยมีประสบการณ์ที่ไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ แล้วเกิดความรู้สึกเศร้า หงุดหงิด อารมณ์เสีย หรือโมโหหรือไม่ หรือหากพ่อแม่ ผู้ปกครองของคุณห้ามไม่ให้คุณใช้โซเชียลมีเดีย คุณมีอาการโกรธโมโหเป็นฟืนเป็นไฟหรือเปล่า
  4. มีความขัดแย้ง ทะเลาะกับผู้อื่น หรือมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต อันเกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาด้านการทำงาน หรือปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  5. ไม่สามารถเลิกทำพฤติกรรมนั้น ๆ ได้ แม้จะใช้ความพยายามอย่างมากก็ตาม และแม้จะเลิกทำพฤติกรรมดังกล่าวได้ ก็มักเป็นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หลังจากนั้น จะมีโอกาสสูงที่กลับมาทำพฤติกรรมเดิมซ้ำอีกครั้ง โดยมีแนวโน้มที่วงจรของการเสพติดจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่เคยพยายามเลิกเล่นโซเชียลมีเดีย แต่สุดท้ายก็กลับมาเล่นอีก และในบางกรณีอาจจะใช้งานในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 

หากคุณมีอาการเข้าข่ายในทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด คุณอาจกำลังตกเป็นเหยื่อจากการใช้โซเชียลมีเดียอยู่ก็เป็นได้

 

 

คำถามตามมาที่น่าสนใจ คือ ทำไมคนเราจึงเสพติดโซเชียลมีเดีย?


 

ผลการวิจัยในต่างประเทศพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะที่คนเราใช้งานโซเชียลมีเดียอยู่นั้น สมองของเราจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า โดพามีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ ความปิติยินดี เมื่อโดพามีนถูกหลั่งออกมาจากสมอง จะทำให้เกิดความสุข รู้สึกผ่อนคลาย เรียกว่า reward circuit (วงจรแห่งรางวัล) แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นจากการทำพฤติกรรมนั้นๆ โดพามีนก็จะหยุดทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด โมโหหรือเซื่องซึมได้ ซึ่งโดพามีนนี้เองเป็นสารตัวเดียวกันกับที่พบในผู้ที่กำลังใช้สารเสพติด

 

สำหรับโซเชียลมีเดีย รางวัลที่ผู้ใช้จะได้รับจากการใช้งาน สามารถมองได้ในแง่ของการได้รับความสนใจ คำชื่นชมจากผู้อื่น ซึ่งสัญญาณที่จะทำให้เรารู้ว่า มีคนพูดถึงเราอยู่ หรือพูดง่ายๆว่า “รางวัลกำลังจะมาแล้ว” นั่นก็คือระบบการแจ้งเตือน หรือ notification ที่ทำหน้าที่เสมือนโทรโข่งที่คอยบอกให้เรารู้ว่า กำลังมีคนพูดถึงเราอยู่ และเขาเหล่านั้นอาจจะกดไลค์ แสดงความคิดเห็น หรือแชร์ข้อความของเราก็ได้

 

แต่สิ่งสำคัญอีกประการของวงจรรางวัลที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย นั่นคือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า รางวัลนั้นจะมาเมื่อไหร่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางหลักจิตวิทยาที่เรียกว่า การเสริมแรงแบบไม่แน่นอน กล่าวคือ เมื่อมีการวางเงื่อนไขต่างๆ เช่น การให้รางวัล พฤติกรรมใดที่เราทำแล้วได้รับรางวัล เรามีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมนั้นมากขึ้นกว่าเดิม แต่รูปแบบการให้รางวัลที่จะทำให้เรามีแนวโน้มทำพฤติกรรมนั้นๆ มากที่สุด คือการเสริมแรงแบบไม่แน่นอนนั่นคือ เมื่อไม่รู้ว่ารางวัลนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ และรางวัลนั้นจะมีปริมาณมากแค่ไหน คล้ายๆ กับการซื้อลอตเตอรี่ ที่เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่จะถูกล็อตเตอรี่ และจะถูกเท่าไหร่

 

เปรียบเทียบกับกรณีการใช้โซเชียลมีเดีย เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่จะมีการแจ้งเตือนมาถึงเรา และในการแจ้งเตือนนั้น ๆ จะมีปริมาณกี่ครั้ง จะมีคนกดไลค์หรือชื่นชอบสถานะของเรา หรือรูปของเรากี่คน ทำให้ผู้ใช้งานมีแนวโน้มที่จะคอยตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ ด้วยความสะดวกในการเข้าถึงโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต ยิ่งเพิ่มโอกาสในการใช้โซเชียลมีเดียของคนเราได้มากขึ้น ดังนั้น โอกาสที่คนเราจะเสพติดสื่อออนไลน์ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ดังนั้น หากระบบแจ้งเตือนคือปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่เพิ่มความถี่ในการใช้โซเชียลมีเดีย หนทางในการลดปริมาณการใช้งาน จึงอาจเริ่มจากการจัดการระบบการแจ้งเตือน เช่น ลดการแจ้งเตือนเรื่องที่สำคัญน้อยๆ ออกไป หรือยกเลิกการแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ

 

ต่อมาคือ การจำกัดเวลาของการใช้งานในแต่ละวันให้พอเหมาะ เช่น หากคุณมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อสื่อสารผู้คนผ่านโซเชียลมีเดีย ก็อาจตั้งเวลาไว้ว่า วันหนึ่งจะเช็คโซเชียลมีเดีย 3 ครั้ง เช่น ก่อนเรียน/ก่อนทำงาน ช่วงกลางวันพักเที่ยง และช่วงเย็นหลังเลิกเรียน/เลิกทำงาน โดยอาจค่อย ๆ จำกัดระยะเวลาการใช้งาน ครั้งหนึ่งไม่เกิน 10-20 นาที ก็อาจช่วยลดสภาวะการเสพติดโซเชียลมีเดียลงได้

 

ท้ายที่สุด ทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีสองด้านเสมอ เช่นเดียวกันกับการใช้โซเชียลมีเดีย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีสติรู้เท่าทันตนเองว่า กำลังทำอะไร พิมพ์หรือโพสต์อะไรลงไปในโซเชียลมีเดีย เพราะความรวดเร็วในการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลบนโลกออนไลน์ อาจแลกมาด้วยความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Kuss, D. J., & Griffiths, M. D. (2011). Online social networking and addiction—a review of the psychological literature. International journal of environmental research and public health, 8(9), 3528-3552.

 

Griffiths, M. D. (2013). Social networking addiction: Emerging themes and issues. Journal of Addiction Research & Therapy, 4(5), e118.

 

Griths, M. D., Kuss, D. J., & Demetrovics, Z. (2014). Social networking addiction: An overview of preliminary findings. Behavioral addictions: Criteria, evidence and treatment, 119-141.

 

ภาพจาก https://pixabay.com/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content