การตบมือข้างเดียวของความรัก

02 Feb 2023

อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

 

การตกหลุมรักใครสักคนหนึ่ง หยิบหยื่นความรักให้กับเขา และเขาคนนั้นก็รักเรากลับ เกิดเป็นความรักที่สมหวัง คงเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิตคนเราที่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำ1 แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว โลกอาจไม่ได้หยิบยื่นความสมหวังในความรักให้กับทุกคนเสมอไป ตามที่เห็นในบทกวี เพลง ละคร และภาพยนตร์ที่มาจากความรักข้างเดียว

 

ความรักข้างเดียว ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะใช้คำว่า Unrequited love ซึ่งมีความหมายว่าการที่คน ๆ หนึ่งมีความรักใคร่ต่อบุคคลหนึ่งแต่บุคคลนั้นไม่ได้รักกลับ2 โดยงานวิจัยในต่างประเทศที่ศึกษาปรากฏการณ์ความรักรูปแบบนี้มากมาย ซึ่งมักจะเรียกผู้ที่หลงรักว่า Pursuer หรือ Would-be lover ส่วนผู้ที่ถูกรักจะเรียกว่า Target เป้าหมายหรือ Rejector ผู้เขียนยังสืบไม่พบงานในประเทศไทย จึงขอหยิบเอางานจากต่างประเทศมาเล่าสู่กันฟังฉบับย่อนะครับ

 

 

หนทางสู่ความรักข้างเดียว


 

Baumeister และคณะเป็นทีมนักวิจัยที่ศึกษาและถูกอ้างอิงถึงเสมอในเรื่องของความรักลักษณะนี้ เขาได้จำแนกสาเหตุของการเกิดความรักข้างเดียว ออกมาคร่าว ๆ แต่อาจไม่ครอบคลุมสาเหตุทั้งหมดดังนี้3

 

  1. คนที่มีเสน่ห์หรือน่าดึงดูดมาก มักมีคนเขามาชอบหรือมาสนใจ ดังนั้นคนเราจึงอาจจะผิดหวังในความรักได้ เมื่อเราไปตกหลุมรักคนที่มีเสน่ห์มาก ๆ ซึ่งตามหลักจิตวิทยาวิวัฒนาการนั้นระบุว่า คนเรามักอยากปลูกต้นรักกับคู่ครองที่น่าดึงดูดใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะความน่าดึงดูด มีเสน่ห์นั้นอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงความแข็งแรงทางพันธุกรรมและความสามารถในการสืบต่อลูกหลาน สำหรับการตกหลุมรักลักษณะนี้ต่างประเทศมักเรียกว่า Falling upwards4
  2. เมื่อเพื่อนรู้สึกเกินกว่าเพื่อน: มิตรภาพระหว่างเพื่อนนั้นต่างประเทศมักเรียกว่า Platonic friendships เพื่อนคือบุคคลที่เรามีความใกล้ชิดสนิทสนม แต่เส้นทางของความรักข้างเดียวอาจเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นเริ่มมีความรู้สึกเสน่หารักใคร่ที่มากกว่าคำว่าเพื่อน (Passion) ในขณะที่อีกฝ่ายนั้นไม่ได้คิดอะไรเกินไปมากไปกว่านั้น
  3. เมื่อความรักมันสวนทาง: ความรักข้างเดียวอาจเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์แบบคนรัก ที่ต่างฝ่ายต่างชอบพอ สนใจและเริ่มต้นศึกษาดูใจกัน แต่แล้วกลับพบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งความรู้สึกรักหรือชอบมันจืดจางลง แต่ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งกลับรู้สึกเพิ่มมากขึ้น

งานวิจัยส่วนใหญ่มักเน้นที่ความรักของชายหญิง และไม่ได้ดูความสัมพันธ์ของกลุ่ม LGBT ซึ่งจากงานวิจัยในชายรักชายชาวฟิลิปปินส์พบว่า สาเหตุหนึ่งของความรักข้างเดียวมักเกิดจากการตกหลุ่มรักกับคนที่มีคนรักแล้วหรือคนคนนั้นไม่ได้เป็นชายรักชายเหมือนกับตนเอง5

 

 

ทางเลือกเมื่อเกิดความรักข้างเดียว


 

ในทางทฤษฎี6 ผู้ตกหลุมรักนั้น มีทางเลือกได้หลายทาง โดยต่างประเทศจะเรียกว่า Active นั่นคือการพยายามจีบโดยตรงเพื่อเอาชนะใจ คนที่ตนเองรักให้ได้ ถ้าในภาษาพูดอาจหมายถึง ‘ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก’ หรือจะเป็นการพยายามจีบทางอ้อม (Passive) หรือโดยนัยที่ไม่โจ่งแจ้ง

 

สำหรับตัวผู้ถูกรักเอง ก็สามารถเลือกตอบสนองได้ เช่นกัน อาทิ การพยายามเพิกเฉย เปลี่ยนบทสนทนาหรือไม่สนใจเมื่ออีกฝ่ายสื่อสารในทางโรแมนติก (Passive) ไปจนถึงการพูดปฏิเสธความรักอย่างตรงไปตรงมา (Active) หรือกระทั่งการหลีกเลี่ยงที่จะพบเจอในสถานที่ต่าง ๆ การปิดกั้น (Block) ช่องทางการสื่อสารระหว่างกันทุกทาง

 

ทั้งนี้การที่แต่ละคนจะแสดงออกแบบไหน อาจขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของอีกฝ่าย หรือความสัมพันธ์ที่มีมาแต่ก่อน เช่น หากเป็นเพื่อนกันมาก่อน เราจะปฏิเสธอความรักของเพื่อนอย่างไร ที่จะยังรักษาความเป็นเพื่อนได้ หรือกลับกัน หากเราปฏิเสธในทางอ้อม คนที่ตกหลุมรักเราเขาจะคิดว่าเราให้ความหวังหรือไม่ หากอีกฝ่ายตามจีบเรามากจนก่อเกิดเป็นความรำคาญใจ เราจะรับมืออย่างไร กลับกันหากเราเป็นฝ่ายตกหลุมรัก แต่เขาไม่รักเรากลับ เราจะพยายามสู้ต่อ หรือตัดใจ ดังนั้นในสถานการณ์ความรักข้างเดียว จึงมีความเป็นไปในและทางออกได้หลากหลายทิศทาง

 

 

ผลกระทบทางใจของความรักข้างเดียว


 

จากงานวิจัยและบทความส่วนมาก2,4 พบว่า การถูกปฏิเสธความรักส่วนใหญ่อาจนำมาซึ่งความรู้สึกทางลบ อาทิ เศร้า เสียใจ ผิดหวัง เพราะความรักที่ไม่สมหวังอาจบ่งบอกว่าตัวเรานั้นไม่คู่ควร ไม่ดีพอ ส่งผลกระทบต่อการเห็นคุณค่าของตนเอง (Self-esteem) ได้ อย่างไรก็ตามก็พบว่ามีผู้ตกหลุมรักข้างเดียวบางคนอาจมีช่วงเวลาความรู้สึกสุขเล็ก ๆ ที่ได้รู้ว่าอย่างน้อยก็ได้พบเจอคนที่ตนหลงรัก5 รวมไปถึงหากตนเองสามารถจีบสำเร็จ หรือสามารถพิชิตใจเพื่อนให้รักตอบได้ ก็นำไปสู่ความรู้สึกทางบวกได้เช่นกัน

 

สำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายถูกรัก อารมณ์ที่พบอาจเป็นความสับสนและกังวลว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในการปฏิเสธความรัก รวมไปถึงความรู้สึกผิด (Guilt) อาจเกิดขึ้นได้ เพราะบุคคลรู้ว่าการปฏิเสธรักนั้นอาจทำให้ใครคนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นคนทั่วไปหรือกระทั่งเพื่อน อกหักและเสียใจ หรือบุคคลนั้นก็เข้าใจความรู้สึกของการเป็นฝ่ายรักข้างเดียวเช่นกัน นอกจากนั้นการปฏิเสธรักยังเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่พยายามสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ให้ดีที่สุด6 ประเด็นที่น่าสนใจคือคนส่วนมากเวลานึกถึงความรักข้างเดียว มักนึกถึงความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ที่ผิดหวังในความรัก ทว่าจริง ๆ แล้วเหตุการณ์นี้ผู้ที่ปฏิเสธรักก็อาจมีผลกระทบทางใจได้เช่นกัน

 

 

ยาใจเมื่อใจร้าว


 

จากงานวิจัยเชิงคุณภาพ4พบว่า เมื่อผิดหวังจากความรักที่ไม่สมหวัง หลายคนเลือกวิธีที่จะรับมือโดยการถอนตัวออกจากสถานการณ์ หรือหากิจกรรมอะไรก็ได้ที่ช่วยเปลี่ยนความสนใจจากความรักที่ไม่สมหวัง อาทิ การไปออกกำลังกาย ร้องหรือแต่งเพลง ออกไปชอปปิ้ง ทานข้าวนอกบ้าน หรือการออกไปพบปะพบเจอคนใหม่ๆ บ้างก็เลือกเน้นกิจกรรมที่เสริมความมั่นใจหรือเสน่ห์ เช่น การไปสปา หรือการเปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผมใหม่ (makeover) เป็นต้น

 

ความรักข้างเดียว อาจเป็นประสบการณ์ที่กระทบต่ออารมณ์จิตใจได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นการมีคนรอบตัวที่ช่วยสนับสนุนจิตใจ (Social support) เช่น เพื่อนหรือครอบครัวที่ช่วยให้ก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ถือเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นการพูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในกรณีที่ความเจ็บปวดใจนั้นส่งกระทบต่อจิตใจหรืออารมณ์อย่างมาก หรืออาจช่วยให้สามารถเข้าใจตนเองมากขึ้นหากบุคคลมีความรักข้างเดียวอยู่เป็นประจำ ว่าอาจมีที่มาที่ไปจากอดีตหรือสิ่งใด7 หรือบางคนอาจมีแนวโน้มที่จะชอบตกหลุมรักข้างเดียวมากกว่าที่จะมีความรักความสัมพันธ์ที่สมหวัง2 การปรึกษานักจิตวิทยาอาจช่วยให้บุคคลสามารถไตร่ตรองตัดสินใจว่าจะรับมือ หรือจัดการกับความรักข้างเดียวของตนให้เหมาะสมอย่างไร

 

การรับมือกับความรักข้างเดียว อาจไม่มีสูตรสำเร็จรูป เพราะความรักนั้นขึ้นอยู่ที่กับตัวผู้หลงรัก ผู้ที่ถูกรัก และปัจจัยรอบด้านมากมาย และในฐานะที่ผู้เขียนที่เป็นคนหนึ่งที่เคยมีรักข้างเดียว จึงขอฝากบทความนี้ให้ผู้อ่านไว้ในเดือนแห่งความรักนี้ ว่า “ในการตบมือข้างเดียวของความรัก ไม่ว่าจะเลือกตบต่อเพื่อหวังว่ามันหนึ่งจะมีเสียงดังดั่งหวัง เลือกที่จะหยุด หรือจะเลือกอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วอย่าลืมกลับบ้าน ทานข้าว เข้านอน… และดูแลมือของคุณเสมอนะครับ”

 

 

รายการอ้างอิง

 

  1. Minerva, F. (2015). Unrequited love hurts: The medicalization of broken hearts is therapy, not enhancement. Cambridge Quarterly of Healthcare Ethics, 24(4), 479-485.
  2. Iannone, N. E., Bailey, K. E., & Nassar, S. R. (2020). Unrequited love. Encyclopedia of Personality and Individual Differences, 5670-5674.
  3. Baumeister, R. F., Wotman, S. R., & Stillwell, A. M. (1993). Unrequited love: On heartbreak, anger, guilt, scriptlessness, and humiliation. Journal of Personality and Social Psychology, 64(3), 377.
  4. Bratslavsky, E., Baumeister, R. F., & Sommer, K. L. (1998). To love or be loved in vain: The trials and tribulations of unrequited love. In B. H. Spitzberg & W. R. Cupach (Eds.), The dark side of close relationships, 307-326. Mahwah, NJ: Lawrence Erlbaum Associates.
  5. Manalastas, E. J. (2011). Unrequited love among young Filipino gay men: Subjective experiences of unreciprocated lovers. Social Science Diliman, 7(1), 63-81.
  6. Eden, J. (2010). “Nothing takes the taste out of peanut butter quite like unrequited love”: Examining the effects of unrequited love relationships. [Doctoral dissertation, Arizona State University]. ProQuest Dissertations and Theses database.
  7. Grande, D. (2020 March, 13). Unrequited love. https://www.psychologytoday.com/gb/blog/in-it-together/202003/unrequited-love

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา

 

Share this content