สายใย สายสัมพันธ์

01 Mar 2019

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

 

วันแห่งความรัก

 

หนุ่มน้อยสามคนเดินอยู่หน้าร้านดอกไม้ ดูเคอะเขินและละล้าละลังที่จะเลือกดอกไม้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกที่ตนมีให้แก่คนรัก

 

ผู้เขียนยืนมองหนุ่มน้อยทั้งสามด้วยสายตาและหัวใจของคนเป็นแม่ เกิดความรู้สึกทั้งเอ็นดูทั้งช่วยลุ้น ทั้งเป็นห่วงระคนกัน

 

สำหรับวัยรุ่นความรู้สึกรักและถูกรัก ช่างมีค่ามีพลังเหลือเกิน และเมื่อความรักนั้นไม่สมหวังก็จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน หากจะเปรียบเทียบถึงความรู้สึกของการอยู่ในความรักของวัยรุ่น ก็คงเปรียบได้กับการอยู่ในพายุ

 

หากจะมองจากหัวใจคนเป็นแม่ ก็คงรู้สึกว่าลูกอยู่ท่ามกลางพายุ จะประคองยังไงให้เขาผ่านพ้นพายุลูกนี้ไปได้ ถ้าแม่จะกางกั้นไม่ให้ลูกมีความรัก การกระทำนี้คงเป็นไปเพื่อความรู้สึกปลอดภัยของแม่เอง ที่แม่ได้เก็บลูกไว้กับตัวเอง มั่นใจได้ว่าลูกปลอดภัยอยู่กับเรา ถ้าแม่จะปล่อยให้ลับตาไป ให้เผชิญกับพายุตามลำพัง ใจแม่ก็หวั่นเสียเหลือเกินว่าลูกจะเป็นอย่างไร

 

การตัดสินใจของแม่ว่าจะทำเช่นไรคงขึ้นกับแม่แต่ละคน หากผู้เขียนอยากบอกให้แม่ทุกคนรู้ว่า การที่ลูกของเราจะเป็นอย่างไรในความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของเขา สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ของเขากับแม่ถึงเริ่มก่อตัวตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็ก ๆ นี้ละคะ

 

การกอด รอยยิ้ม การสัมผัสทุกสัมผัส การป้อนอาหาร การเปลี่ยนผ้าอ้อม การดูแลในทุกรูปแบบที่แม่ทำ จะทำให้เกิดสายใยที่ค่อย ๆ ก่อตัวทีละเล็กทีละน้อย สายใยที่สร้างขึ้นมานี้จะสลักลึกลงในจิตใจของลูก ในใจของลูก เขาจะเริ่มสร้างเป็นภาพการรับรู้ที่เขามีต่อตัวเองว่าตัวเองมีค่ามีความหมายหรือไม่ และภาพการรับรู้ที่เขามีต่อคนอื่น ๆ ว่าคนอื่นมีค่าเพียงพอสำหรับการไว้วางใจหรือไม่ ถ้าแม่ได้สร้างสายใยที่แข็งแกร่งให้เขารับรู้ได้ตั้งแต่ยังแบเบาะแล้วว่า เขามีค่ามีความหมาย เขาก็จะมองตัวเองอย่างมีค่ามีความหมายต่อไปเมื่อเขาเติบโตขึ้น

 

สายใยที่แม่สร้างไว้จะเป็นพลังเป็นแรงใจให้ลูกในทุกเรื่อง แม่จะคอยมองอยู่ข้างหลังได้อย่างมั่นใจ เมื่อเขาจะไปเผชิญสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต ลูกเองก็จะรับรู้ว่าเมื่อหันกลับมาเมื่อใดให้มั่นใจว่ามีแม่เป็นกองหลังที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นแหล่งพลังงานให้เขาเมื่อเขาหมดแรง ลูกจะรับรู้ได้ว่าเมื่อใดที่ไม่สบายใจ เขาจะยังมีแม่เป็นฐานที่มั่นอันปลอดภัย (secure base) ให้กลับมาพัก กลับมาชาร์จแบต กลับมาเติมพลังได้เสมอ

 

ดังนั้นสิ่งที่แม่จะทำได้ในวันนี้เพื่อจะได้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เมื่อเขาเริ่มต้นมีความรัก เขาจะมีความรักที่ดี รักอย่างเห็นคุณค่าในตัวเอง รักอย่างให้เกียรติให้คุณค่าในอีกฝ่าย คือ การสร้างสายใยสายสัมพันธ์ผ่านความรักการดูแลเอาใจใส่ที่แม่มีให้ ให้เขารู้จักกับความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่ความสัมพันธ์แรกในชีวิตเขา แล้วเขาก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีได้กับผู้อื่นต่อไป ดังคำของ John Bowlby ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีที่ผู้เขียนใช้เป็นแนวคิดหลักในการเขียนบทความฉบับนี้ได้กล่าวไว้ว่า “the cradle to the grave” รอยสลักจากสายสัมพันธ์แรกนี้จะสลักลึกอยู่กับลูกตลอดชีวิต

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bowlby, J. (1973). Narural Clues to Danger and Safety. Attachment and loss, 2, 137-150.

 

Fraley, R. C., & Shaver, P. R. (2000). Adult romantic attachment: Theoretical developments, emerging controversies, and unanswered questions. Review of general psychology, 4(2), 132.

 

ภาพจาก https://www.virtual-college.co.uk/news/safeguarding/2018/01/attachment-theory-early-emotional-bonds-important

 

 


 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content