Social exclusion – การถูกกีดกันทางสังคม

06 Mar 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

การถูกกีดกันทางสังคม หมายถึง การที่บุคคลไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น การถูกแยกออกไปจากกลุ่ม หรือถูกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยที่บุคคลที่ถูกกีดกันทางสังคมนั้นอาจจะทราบหรือไม่ทราบสาเหตุก็ได้ ทั้งนี้ การมีสังคมหรือการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในการใช้ชีวิต มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการเข้ากลุ่มเพื่อความอยู่รอด ในการได้มาซึ่งทรัพยากร การดำรงเผ่าพันธุ์ และการรักษาความปลอดภัยจากอันตรายภายนอก ดังนั้น การที่บุคคลไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ถูกปฏิเสธ หรือถูกขับออกจากกลุ่ม จึงเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับบุคคล

 

กล่าวได้ว่า การกีดกันทางสังคมหรือการปฏิเสธจากกลุ่มจัดเป็นวิธีการลงโทษทางสังคมวิธีหนึ่ง โดยคนถูกกีดกันทางสังคมจะรับรู้ว่าโอกาสที่ตนจะใช้ชีวิตหรืออยู่รอดในสังคมลดน้อยลง ในบางวัฒนธรรม การกีดกันทางสังคมเปรียบได้กับเป็นความตายทางสังคม เพราะการไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มหรือสังคม ก็จะทำให้บุคคลไม่มีคุณค่าทางสังคม เสมือนว่าไม่มีตัวตนอยู่ในสังคมอีกต่อไป

 

 

การทำงานของระบบสมองเมื่อต้องตอบสนองต่อการถูกกีดกันทางสังคม


 

การที่บุคคลต้องเผชิญสถานการณ์ถูกกีดกันทางสังคม บุคคลจะแสดงออกถึงความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทางกายหรือทางจิตใจ จากการทดลองด้วยเครื่อง fMRI พบว่า ระบบประสาทของคนที่ต้องเผชิญการถูกกีดกันทางสังคม ทำงานในบริเวณเดียวกันคนที่กำลังเผชิญความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่ ระบบประสาทส่วนที่ทำงานเหมือนกัน คือเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าที่เชื่อมระบบประสาทของสมองซีกซ้ายและซีกขวา

ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจเมื่อถูกปฏิเสธจากกลุ่ม

 

การถูกกีดกันทางสังคมเป็นการคุกคาม หรือทำลายความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (need for belonging) การเห็นคุณค่าแห่งตน การควบคุม การดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย และเป็นการเพิ่มความเศร้าและความโกรธ เมื่อบุคคลถูกปฏิเสธจากกลุ่มหรือถูกกีดกันทางสังคม ให้ผลได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

 

ผลเชิงบวกบุคคลจะสนใจสิ่งชี้แนะทางสังคมมากขึ้น เพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น

 

ผลเชิงลบบุคคลอาจเกิดปฏิกิริยาทางจิต (reactance) ในการรู้สึกว่าถูกคุกคามด้านการควบคุม ส่งผลให้บุคคลพยายามที่จะนำความสามารถในการควบคุมหรือความเป็นอิสระกลับมา ด้วยการแสดงออกที่ก้าวร้าว ทั้งก้าวร้าวโดยตรงต่อผู้ที่ปฏิเสธหรือกีดกันตน และก้าวร้าวแทนที่ต่อผู้ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ อีกทั้งยังมีการประเมินผู้อื่นในทางลบ และให้ความร่วมมือน้อยกว่าอีกด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น มีงานวิจัยพบว่า หากบุคคลถูกกีดกันหรือถูกปฏิเสธจากกลุ่มเป็นประจำหรือในระยะเวลานาน บุคคลจะเกิดความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ หรือ learned helplessness อีกด้วย (การประพฤติตนอย่างสิ้นหวัง แม้มีโอกาสหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาหรือเป็นอันตรายได้ก็ตาม)

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการถูกกีดกันทางสังคม และความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธต่อพฤติกรรมก้าวร้าวโดยตรง และพฤติกรรมก้าวร้าวแทนที่” โดย สุชาดา ชูสาเหาะ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21027

ภาพจาก http://www.shutterstock.com/

Share this content