การเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง – Self-enhancement

29 Apr 2024

 

 

 

 

การเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง หมายถึง การมีมุมมองต่อตนเองในทางบวกเกินจริง ซึ่งเป็นการรับรู้ว่าตนสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้มากเกินจริง และมองตนในแง่ดีเกินกว่าความเป็นจริง

 

การเพิ่มคุณค่าให้ตนองเป็นส่วนหนึ่งของภาพลวงตาทางบวก (positive illusion) คือกระบวนการในการหลอกตนเอง ทั้งยังเป็นกระบวนการป้องกันตนเอง บุคคลที่มีการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองจะมองว่าตนเองดีกว่าค่าเฉลี่ยของบุคคลทั่วไป และมีการปกป้องตนเองเพื่อรักษาความมั่นคงในจิตใจตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่จะเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง

 

Fiske (2004) กล่าวว่า ในความเป็นจริงบุคคลมักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับตนเอง ส่งผลให้ไม่สามารถดึงเอาแรงผลักดันพื้นฐานของบุคคลออกมาได้ เช่น ไม่กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย แต่ถ้าเมื่อใดบุคคลรู้สึกดีต่อตนเอง เขาจะมีความรู้สึกในทางบวกต่อตนเองเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความต้องการและพยายามสร้างความรู้สึกที่ดี และมีอารมณ์ร่วมกับสมาชิกในกลุ่มได้ การที่บุคคลมีความต้องการที่จะมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองจึงเป็นการรวมเอาทั้งการนับถือตนเอง และการพัฒนาตนเองเอาไว้ด้วยกัน Baumeister และ Leary (1995) เสนอว่าบุคคลมีการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองในแนวทางที่ต่างกันตามแต่วัฒนธรรม (Individualism vs Collectivism) เช่น บางคนจะรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อรู้สึกพิเศษกับตนเอง บางคนจะภาคภูมิใจเมื่อเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่ม หรือมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกลุ่ม การนับถือตนเองจะช่วยให้บุคคลมองเห็นว่าตนเองได้ทำในสิ่งที่ดีเทียบเท่าสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่ม

 

ในด้านสุขภาวะ การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองยังสามารถเป็นตัวป้องกันความเครียดทางด้านร่างกายได้ และยังทำให้มีสภาพจิตที่ดี มีงานวิจัยพบว่าการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองสามารถลดภาวะซึมเศร้าและลดความเครียดได้อีกด้วย โดยพบว่าผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองสูงจะมีระดับการเต้นของหัวใจน้อยกว่า และร่างกายจะหลั่งสารคอติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นสารความเครียดน้อยกว่าผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองต่ำ อย่างไรก็ดี ผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองมากเกินไปจะถูกคนอื่นมองในด้านลบ เช่น อวดดี เป็นปฏิปักษ์ อาจทำให้เกิดความอึดอัดหรือไม่น่าพึงปรารถนาในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองเสี่ยงจะเจอการปฏิบัติแบบเหินห่าง เช่น หลีกหนี เป็นที่ซุบซิบนินทา ได้รับการตอบสนองทางลบ เป็นที่ไม่ไว้วางใจ และถูกขับออกจากกลุ่ม ผลเสียในระยะยาวก็รุนแรงได้เช่นกัน ผู้ที่ชอบเพิ่มคุณค่าให้ตนเองบ่อย ๆ ในอนาคตจะมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองและสุขภาวะทางจิตต่ำ และอาจไม่พึงพอใจและละทิ้งการงานที่ตนประกอบอาชีพ

 

 

 

ประเภทของการเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง

 

การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบ่งเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยแต่ละงาน เช่น

 

1. การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบง่าย (Simple self-enhancement) เป็นกระบวนการที่บุคคลพยายามให้ผู้อื่นรับรู้เกี่ยวกับตนเองในทางบวก

 

2. การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบป้องกัน (Compensatory หรือ Defensive self-enhancement) เป็นแรงจูงใจที่มีแรงขับมากที่สุด แบ่งเป็น

2.1 ความน่าพึงปรารถนาของสังคม (socially desirable)

2.2 การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบอวดตน (grandiose self-enhancement) ทั้งนี้ แบบแรกไม่สัมพันธ์กับความหลงตนเอง ส่วนแบบที่สองสัมพันธ์กับความหลงตนเอง

3. การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบเปรียบเทียบ (Comparative self-enhancement) แบ่งเป็น

3.1 กลยุทธ์แบบเปรียบเทียบ คือ การเปรียบเทียบตัวตนที่น่าพึงปรารถนาของตนเองกับผู้อื่น นั่นคืออคติเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) คือการรับความดีความชอบเมื่อผลลัพธ์ของงานประสบความสำเร็จ และโทษสถานการณ์หรือผู้อื่นเมื่อผลลัพธ์ไม่ประสบความสำเร็จ

3.2 กลยุทธ์แบบไม่เปรียบเทียบ คือ การไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น แต่ประเมินที่ความสำคัญของงาน คือ การประเมินว่างานมีความสำคัญเมื่อประสบความสำเร็จ และประเมินว่างานไม่สำคัญเมื่อล้มเหลว

 

 

มาตรวัดการเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง

 

มาตรวัดการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองมีด้วยกันหลายมาตร แล้วแต่แนวคิดและขอบเขตในการศึกษา ตัวอย่างเช่น

1. มาตร Contingencies of Self-worth Scale ของ Crocker และคณะ (2003) เป็นมาตรที่วัดจากผลที่ตามมาของการประเมินคุณค่าในตนเอง แบ่งเป็นองค์ประกอบด้านคุณค่าของตนเองภายนอก 4 องค์ประกอบ และคุณค่าของตนเองภายใน 3 องค์ประกอบ รวมเป็น 7 องค์ประกอบ ดังนี้

  • (1) การยอมรับจากผู้อื่น (Other’s approval) คือการเห็นคุณค่าในตนเองอยู่บนพื้นฐานของการได้รับการเห็นด้วยและการยอมรับจากผู้อื่น โดยบุคคลเชื่อว่าผู้อื่นมองตนในแง่บวกมากกว่าที่ผู้อื่นมองจริง ๆ
  • (2) รูปลักษณ์ (Appearance) คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าของตนเองในด้านรูปลักษณ์ภายนอก (เป็นตัวทำนายที่หนักแน่นที่สุดในการทำนายการเห็นคุณค่าในตนอง)
  • (3) การแข่งขัน (Competition) คือการเห็นคุณค่าในตนเองซึ่งมาจากการที่ตนเหนือกว่าผู้อื่น ทำได้ดีกว่าในการแข่งขัน และถือว่าตนดีกว่าผู้อื่น
  • (4) ความสามารถ (Competencies/Performance) คือการเห็นคุณค่าในตนเองที่มาจากการประเมินความสามารถในการแข่งขัน หรือจากความสามารถทั่ว ๆ ไปของตนเอง
  • (5) การสนับสนุนของครอบครัว (Family support) คือการเห็นคุณค่าในตนเองจากความรู้สึกเป็นที่รักของตนใกล้ชิด รู้สึกว่าตนมีคุณค่าที่ผู้อื่นจะดูแลเอาในใจและสนับสนุน มีความผูกพันแบบมั่นคง โดยได้รับการเห็นด้วย ยอมรับ หรือความรักจากสมาชิกในครอบครัว
  • (6) ศีลธรรม (Virtue) คือการเห็นคุณค่าในตนเองจากการมีคุณธรรม จริยธรรม หรือมีศีลธรรม ยึดติดกับกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม ทำให้ตัดสินว่าตนเองเป็นคนดี มีคุณธรรม และมีคุณค่า
  • (7) ความรักของพระเจ้า (God’s love) คือการเห็นคุณค่าในตนเองจากความศรัทธาทางศาสนา เชื่อในเรื่องพระเจ้าหรือพระผู้มหิทธานุภาพ เชื่อว่าตนเป็นที่รัก มีคุณค่าและพิเศษไม่เหมือนใครในสายตาของพระเจ้า

 

2. มาตร Self-enhancement and Self-protection Strategy ของ Hepper และคณะ (2010) มาตรนี้แบ่งการเพิ่มคณค่าให้ตนเองออกเป็น 4 ด้าน โดยมองว่าคนเรามีแรงจูงใจที่จะเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง (รักษาหรือเพิ่มมุมมองต่อตนเองในทางบวก) และปกป้องตนเอง (ขัดขวางหรือกำจัดมุมมองต่อตนเองในทางลบ) ดังนี้

  • (1) การน้อมรับคำนิยม (positivity embracement) คือการหาผลตอบรับทางบวกจากผู้อื่น และแนวโน้มที่บุคคลจะขอความคิดเห็นเชิงบวกจากคนอื่น ๆ เช่น เลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีแนวโน้มที่จะให้ข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นเชิงบวก จะระมัดระวังการนำเสนอตนเองให้อยู่ในภาพลักษณ์ที่ดีที่สุด
  • (2) การตีความเข้าข้างตนเอง (favorable construal) คือการสร้างความรู้ความเข้าใจทางบวกให้ตนเองเกี่ยวกับสิ่งทั่วไป เช่น การเชื่อว่าตนเองมีค่าเฉลี่ยของบุคลิกภาพสูงกว่าบุคคลทั่วไป มีอนาคตที่ดีกว่าบุคคลทั่วไป และจะแปลความหมายของข้อเสนอแนะที่มีความกำกวมเป็นไปในทางบวกต่อตนเอง
  • (3) การสะท้อนกลับของการยืนยันตนเอง (Self-affirming reflections) คือการตอบสนองต่อภัยคุกคามตนเองด้วยการยืนยันตนเอง หรือเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการรักษาความมั่นคงในตนเอง เช่น นึกถึงคุณค่าของตนเองเมื่อประสบปัญหา เปรียบเทียบตนเองในอดีตกับปัจจุบัน หรือสร้างความคิดที่ตรงข้ามหรือเลวร้ายกว่าความเป็นจริงเพื่อเป็นทางเลือกในการคงไว้ซึ่งความมั่นคงของจิตใจตนเอง
  • (4) การปกป้องตนเอง (defensiveness) คือแนวโน้มที่จะทำให้ตนเองเสียเปรียบและตอบสนองต่อความคิดเห็นทางลบในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมทางด้านพฤติกรรมและการโน้มเอียงทางความคิด เพื่อรับผลตอบรับเชิงบวกและเพิกเฉยต่อผลตอบรับเชิงลบ โดยจะระบุความล้มเหลวเกิดจากปัจจัยภายนอก จะประเมินสถานการณ์ หลังจากนั้นจะพยายามหาข้อแก้ตัวหรือพยายามลดความรู้สึกของความล้มเหลวนั้น

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“บทบาทของการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองในการส่งผ่านความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างความหลงตนเองและวัตถุนิยม” โดย วันวิสาข์ เอกกรณ์พงษ์ (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58569

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ความเหงา การเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง และพฤติกรรมการกดถูกใจในเฟชบุ๊ก” โดย ชัญญมน ดิษกุลนรภัทร, วศิมน พรพัฒนกูล และ วัชชาภรณ์ ไร่ทิม (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47865

 

“อิทธิพลของความนิยมความสมบูรณ์แบบต่อวัตถุนิยมโดยมีการนำเสนอตนเองด้วยความสมบูรณ์แบบและการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย มิฬา แซ่ซ่ำ (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50894

 

ภาพประกอบ https://pixabay.com

Share this content