ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง…ด้วยต้นทุนทางจิตวิทยา (ตอนที่ 2)

08 Sep 2021

คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน และ ผศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง…ด้วยต้นทุนทางจิตวิทยา
“Hope” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 2

 

 

หากผู้อ่านยังจำเรื่องราวของ HERO ตอน “ล้มแล้วลุกได้…หากเรามีทุนทางจิตวิทยา” ที่ได้เน้นถึงความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) บทความนี้เป็นภาคสองของทุนทางจิตวิทยา หรือหากผู้อ่านที่อ่านเรื่องราวในตอนแรกจบลงไปแล้วมีความหวัง (Hope) ว่าจะได้อ่านและทำความรู้จักกับองค์ประกอบด้านอื่นๆของทุนทางจิตวิทยาเพิ่มเติมในตอนต่อไป ความหวังของทุกท่านเป็นจริงแล้วในบทความนี้ หากทุกท่านมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ชีวิตของทุกคนล้วนมีความหวังติดตามตัวมาตลอด ในทุกย่างก้าวของชีวิต วนเวียนอยู่ในความคิดประจำวันในแทบทุกเรื่องราว ทุกคนมีความหวังกับหลายสิ่งรอบตัว เช่น หวังว่าฝนจะไม่ตก หวังว่ารถจะไม่ติด หวังว่าจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามเวลา หรือ หวังว่าการระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้จะจบลงโดยเร็วเพื่อเราทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปรกติสุขเหมือนเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาความหวังนั้นเป็นสิ่งที่ลึกลับและมีความหมายน่าค้นหา ความหวังเป็นหัวข้อที่ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์ ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ ตำนานของความหวังพบได้แม้กระทั่งในตำนานการสร้างโลกของกรีกโบราณที่เล่าขานกันมาถึงความลึกลับของกล่องแพนโดรา (Pandora’s box) ที่ถูกเปิดออกด้วยความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ เป็นสาเหตุให้สิ่งเลวร้ายและภยันตรายนานัปการหลุดหนีออกมาได้ ก่อให้เกิดเรื่องเลวร้ายมาสู่มวลมนุษย์ในเวลาต่อมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ความหวังยังคงเป็นสิ่งเดียวที่ยังติดค้างอยู่ในกล่องปริศนานั้น ไม่สามารถหลุดหนีออกมาได้ เรื่องราวในตำนานนี้ได้รับการตีความจากนักคิด นักปรัชญา นักเทววิทยาในแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมายว่า ความหวังแท้จริงแล้วคือสิ่งใด มีรูปลักษณ์หน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ และหากความหวังเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยได้รู้จักหรือสัมผัสมาก่อน ความหวังที่มนุษย์ถือครองและอ้างว่ารู้จักดีแล้วนั้น ที่แท้แล้วคือสิ่งใดกันแน่ หรืออาจเป็นเพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ต่างยังคงจะมีกำลังใจและเชื่อว่าความหวังจะยังคงมีอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ในกล่องแพนโดราตามตำนานของเทพเจ้าที่เล่าขานต่อกันมา

 

ด้วยเหตุนี้ ความหวังจึงเป็นคุณลักษณะทางจิตวิทยาประการหนึ่งที่ยังคงอยู่ในความสนใจศึกษาของนักคิดและนักวิชาการทั้งหลาย ด้วยธรรมชาติของความหวังที่ยังมีความคลุมเครือและผสมผสานกันระหว่างสิ่งที่จับต้องไม่ได้กับความจริงที่เกิดขึ้น ทำให้การศึกษาเรื่องความหวังยังคงเป็นหัวข้อที่ท้าทายต่อการตีความหมายที่แตกต่างกันไป จนกระทั่งเคยมีคำกล่าวเอาไว้ว่า “การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความหวังนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะความหวังเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการดำรงอยู่ของมนุษย์” (Vaillot, 1970)

 

ปลายปี 1990 นักวิทยาศาสตร์ด้านสังคมศาสตร์ (Social scientist) ได้พยายามทำการศึกษาเกี่ยวกับความหวังด้วยมุมมองพื้นฐานจากแนวคิดดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ คิดค้นหาคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นและแสวงหาวิธีในการวัดความหวังในจิตใจของมนุษย์ด้วยวิธีการต่าง ๆ และให้คำนิยามความหวังไว้ว่าเป็นการคาดการณ์ (Expectation) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีบางแนวคิดได้ให้คำนิยามของความหวังว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีความเชื่อมั่นที่มีต่อตนเองว่าจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างประสบความสำเร็จ (Edwards, 2009)

 

Charles Richard Snyder นักจิตวิทยาคลินิกขาวอเมริกันที่มีความสนใจด้านจิตวิทยาเชิงบวกได้เขียนหนังสือชื่อ จิตวิทยาแห่งความหวัง (The Psychology of Hope) และตีพิมพ์สู่สาธารณะในปี 1994 โดยเขาได้อธิบายและให้คำนิยามของความหวังและยังคงใช้แนวทางเดิมที่เคยมีมาก่อนว่าความหวังเป็นการรู้คิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของมนุษย์ (Cognitive in Nature) อย่างไรก็ตาม Snyder ได้นำเอาปัจจัยทางด้านอารมณ์ (Emotions) เข้ามาผนวกร่วมด้วยและช่วยให้การนิยามแนวคิดเกี่ยวกับความหวังของ Snyder เป็นแนวคิดที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

Snyder (2000) ได้ให้คำนิยามของความหวังไว้ว่า หมายถึง ภาวะแรงจูงใจในด้านบวกที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. การมีพลังในการขับเคลื่อน (Agency)
  2. การแสวงหาวิถีทาง (Pathways)
  3. เป้าหมายของความสำเร็จที่จะไปให้ถึง (Goal)

 

ผู้ที่มีความหวังที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตนวางไว้มักจะสร้างพลังใจจากการบอกกับตนเอง (Self talk agency) เสมอว่า “ฉันทำได้” (I can do it) หรือ “ฉันสามารถแก้ปัญหานี้ได้” (I can solve this problem)

 

ในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การคิดอย่างคนที่มีความหวังจะช่วยทำให้คนเรามีเป้าหมายที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นเป้าหมายเพื่อตนเองหรือครอบครัวและคนที่รัก ถึงแม้ในบางครั้ง เส้นทางเดิมในการประกอบอาชีพ หรือ พื้นที่ชีวิตเดิมในการหารายได้ที่เคยคิดว่าเต็มไปด้วยความสุขสบาย อาจจะต้องถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นเส้นทางใหม่ในการไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จ เนื่องจากผลกระทบหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่นเดียวกับการที่นักกีฬาคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิคได้ นักกีฬาย่อมต้องมีความหวังในการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนและมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการฝึกซ้อม แม้ทุกคนรู้ดีว่า การฝึกซ้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ประสบชัยชนะในการแข่งขัน แต่ในความเป็นจริงอาจต้องมีอุปสรรคหลายอย่างที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการฝึกซ้อมในแต่ละครั้ง นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จจะไม่มีมีวันล้มเลิกความฝันหรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของตนเองจากอุปสรรคที่พบเจอระหว่างทาง แต่เขาเหล่านั้นจะยังพยายามแสวงหาหนทางเพื่อบริหารจัดการเวลาในชีวิตควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมอย่างทุ่มเทและหนักหน่วง จัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ รู้จักให้กำลังใจตนเองในแต่ละขั้นของความสำเร็จจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และ มีการกระตุ้นและสร้างพลังใจให้กับตนเองในทุกๆ วัน เช่น การให้รางวัลหรือใช้คำพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อตนเอง เป็นต้น การสร้างกำลังใจนี้จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้บุคคลมีความคิดมุ่งมั่นที่จะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ประสบความสำเร็จแม้ว่าจะมีอุปสรรคหรือความยากลำบากเกิดขึ้น

 

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความหวังในบริบทของการทำงานนั้นพบว่าความหวังจัดเป็นอารมณ์ทางบวกที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการฟื้นพลังของพนักงาน (Employee resilience) (Froman 2010) และยังพบว่าการมีความหวังจะทำให้พนักงานมีความเหนื่อยหน่ายในงาน (Burnout) น้อยลงและมองโลกในแง่ดีมากขึ้น มีความกระตือรือร้นในการค้นหาวิถีทางใหม่ๆ ในการเอาชนะต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน มีสุขภาวะที่ดี มีความพึงพอใจและความผูกพันต่อองค์กร และสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบได้อย่างขยันขันแข็ง โดยเฉพาะในงานที่มีความท้าทาย (Bailey et al. 2007; Froman, 2010) นอกจากนี้ องค์กรสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิต (Mental health) ของพนักงานลงได้ ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เช่น ลดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน หรือ การชดเชยการบาดเจ็บหรือทุพพลภาพในการทำงาน ซึ่งสาเหตุที่พบได้โดยส่วนใหญ่นั้นเกิดจากภาวะอาการซึมเศร้าและสิ้นความหวังที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน (Green et al. 2006)

 

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของงานวิจัยที่สนับสนุนว่าความหวังนั้นช่วยเพิ่มพูนสุขภาวะที่ดีของพนักงานและยังช่วยทำให้พนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำองค์กรจึงควรให้ความสำคัญและกระตุ้นในเกิดบรรยากาศของความหวังขึ้นภายในองค์กร (Lopez et al. 2003; Peterson & Byron 2008) โดยการโน้มน้าวให้พนักงานเกิดความรู้สึกร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน รู้หลักการในการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ สร้างพลังใจในการทำงาน ผู้นำควรส่งสารสำคัญขององค์กร (Key message) ที่ตรงใจพนักงาน ทำให้พนักงานเข้าใจถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะองค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานที่ยังมีความหวังย่อมมีโอกาสในการประสบกับความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายได้เสมอ

 

นอกจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวังในกลุ่มของคนทำงานในองค์กร ยังพบงานวิจัยอย่างแพร่หลายของการสร้างความหวังให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่างๆ Koopmeiner และคณะ (1997) พบว่า ปัจจัยที่สร้างความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไปของผู้ป่วยมะเร็ง คือ วิธีการใช้เวลาของผู้ดูแลกับผู้ป่วย (Time for the patients) วิธีการพูดสื่อสารให้ข้อมูลกับผู้ป่วย (Way of giving information) ความสุภาพอ่อนน้อม (Politeness) การดูแลอย่างเอาใจใส่ (Caring and helping attitude) การปฎิบัติหน้าที่ของผู้ดูแลด้วยความซื่อสัตย์และความเคารพนับถือ (Honesty and respect) งานวิจัยของ Herth & Cutcliffe (2002) ยังพบอีกว่า เมื่อต้องเผชิญกับโรคร้ายอย่างมะเร็ง ความหวังเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและสมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถต่อสู้และผ่านพ้นจากสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปได้

 

ยังมีการศึกษาวิจัยในอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความหวังและมีประเด็นที่น่าสนใจในการนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตของเราได้ คือ งานวิจัยในกลุ่มของผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน ความหวังและความสิ้นหวังถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพและการมีชีวิตที่ยืนยาวของผู้สูงอายุ Hernandez& Overholser (2021) รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับความหวังและผู้สูงอายุจำนวน 36 ชิ้น เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในโปรแกรมทางจิตวิทยาเพื่อสร้างเสริมความหวังในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมการทบทวนชีวิต (Life review) ช่วยทำให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า สูญเสียคนที่รัก หรือ ผู้สูงอายุที่ป่วยและรับการรักษาทางการแพทย์อยู่ มีความหวังมากขึ้นที่จะต่อสู้กับโรคร้าย และมีความต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้น หากท่านผู้อ่านมีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้สูงอายุ การรับฟังเรื่องราวของความสุข ความสำเร็จในอดีตของบุคคลที่ท่านรัก จะช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงวัยที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และเรื่องเล่าต่างๆ มีกำลังใจและมีความหวังที่จะดำรงชีวิตอยู่และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อคอยชื่นชมความสำเร็จและพัฒนาการของลูกหลานได้อีกยาวนาน

 

จากงานวิจัยข้างต้นสรุปได้ว่า ความหวัง (Hope) เป็นองค์ประกอบของทุนทางจิตวิทยาอีกประการหนึ่งที่เป็นพลังช่วยให้เราผ่านวันเวลาที่ยากลำบากในยามที่ต้องพบกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต ผลการศึกษาที่ผ่านมาช่วยทำให้ ความหวัง (Hope) ที่เคยเป็นเรื่องลึกลับและมีความเป็นนามธรรมมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น Snyder และคณะ (2001 ) เคยกล่าวไว้ว่า ความหวังนั้นเป็นภาวะที่เกิดจากแรงกระตุ้นในทางบวกที่ต่างไปจากการมองโลกในแง่ดี (Optimism) การมีความหวังคือบุคคลต้องมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและมีพลังใจในการหาทางที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตนได้ตั้งไว้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามต่อไปว่า การมองโลกในแง่ดี ซึ่งองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งของทุนทางจิตวิทยาจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราท่ามกลางภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ โปรดติดตาม HERO ได้ในตอนต่อไป

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bailey, T., Eng, W., Frisch, M., & Snyder, C. (2007). Hope and optimism as related to life satisfaction. Journal of Positive Psychology, 2(3), 168–175.

 

Edwards, L. M. (2009). Hope. In S. J. Lopez (Ed.), Encyclopedia of Positive Psychology (Vol. 1, pp. 487-491). Hoboken, NJ: Wiley.

 

Froman, L. (2010). Positive psychology in the workplace. Journal of Adult Development, 17, 59–69.

 

Green, S., Oades, L., & Grant, A. M. (2006). Cognitive-behavioral, solution-focused life coaching: Enhancing goal striving, well-being, and hope. Journal of Positive Psychology, 1(3), 142–149.

 

Hernandez, S. C., & Overholser, J. C. (2021). A Systematic Review of Interventions for Hope/Hopelessnesss in Older Adults. Clin Gerontol, 44(2), 97-111.

 

Herth, K. A. & Cutcliffe. J. R. (2002). The concept of hope in nursing 3: hope and palliative care nursing. British Journal of Nursing 11, 977–984.

 

Koopmeiner, L., Post-White, V., Gutknecht, S., Ceronsky, C., Nickelson, K., Drew, D., Mackey, K. & Kreitzer, M. (1997). How healthcare professionals contribute to hope in patients with cancer. Oncology Nursing Forum, 24, 1507-1513.

 

Lopez, S. J., Snyder, C. R., & Pedrotti, J. T. (2003). Hope: Many definitions, many measures. In S. J. Lopez & C. R. Snyder (Eds.), Positive psychological assessment—A handbook of models and measures (pp. 91–107). Washington, DC: American Psychological Association.

 

Peterson, S. J., & Byron, K. (2008). Exploring the role of hope in job performance: Results from four studies. Journal of Organizational Behavior, 29(6), 785–803.

 

Snyder, C.R. (2000). Handbook of Hope; Academic Press: San Diego, CA, USA.

 

Snyder, C. R., Sympson, S. C., Michael, S. T., & Cheavens, J. (2001). Optimism and hope constructs: Variants on a positive expectancy theme. In E. C. Chang (Ed.), Optimism and pessimism: Implications for theory, research, and practice (pp. 101-125). Washington, DC: American Psychological Association.

 

Vaillot, M. C. (1970). Hope: the restoration of being. American Journal of Nursing 70, 268–273

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content