เพลงจะพาวัยรุ่นเติบโตไปทางไหน?

27 Dec 2023

คุณณัฐนันท์ มั่นคง

 

จากการสำรวจในช่วงปี ค.ศ. 2004-2009 ของ Rideout และคณะ (2010) ได้ผลว่า วันรุ่นทั่วโลกใช้เวลาเฉลี่ยกับการฟังเพลง ประมาณ 3 ชม./วัน และเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยี 20 กว่าปีผ่านไป อินเทอร์เน็ตก็มี online streaming ก็มา น่าจะทำให้เพลงหาฟังได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาได้มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะตอนเดินทาง ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นเกม ปาร์ตี้สังสรรค์ ฯลฯ ก็น่าจะมีเพลงอยู่ร่วมด้วยไม่มากก็น้อย

 

ถ้าหากนึกถึงทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการอย่าง Psychosocial stages ของ Erikson ในช่วงวัยรุ่นที่เป็นขั้น Identity vs. Role Confusion ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้จะมีผลในการหล่อหลอม สร้างแบบแผนพฤติกรรม เรียนรู้ตัวเอง มากกว่าวัยอื่น ๆ ดังนั้นแล้วถ้าหากวัยรุ่นฟังเพลงเยอะกว่าวัยอื่น ๆ เพลงก็น่าจะมีบทบางอะไรบางอย่างกับพัฒนาการของวัยรุ่น ก็เลยจะมาชวนดูว่านักจิตวิทยาได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัยรุ่นกับเพลงในแง่ใดบ้าง

 

ในเชิงวิวัฒนาการมนุษย์ เพลง-ดนตรี มีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม บทบาทโดยทั่วไปของเพลงที่เกิดขึ้น ก็จะมีทั้งการกระตุ้นร่างกาย (physical arousal) สื่อสารอารมณ์ (communicating emotions) กำกับอารมณ์ (emotional regulation) แต่หากพูดถึงเพลงที่ได้รับในช่วงวัยรุ่น นักวิจัยบางส่วนเสนอว่ามีบทบาทเป็นตัวแบบในการสร้างกลุ่มพันธมิตร และพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี (mating) (Fu et al., 2023) ดังนั้นการจีบกันด้วยเพลง หรือใช้บทตามหนัง-ละคร ในช่วงวัยมัธยม ก็คือการทดลองตัวแบบหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ตัวตน เพื่อหาตัวตนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธ์กับเป้าหมาย หรือตัวตนที่คิดว่าตรง/เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

 

ในช่วงวัยรุ่น “กลุ่ม” ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างตัวตน แต่ในสภาพแสดล้อมทั่วไปอย่างชั้นเรียน กลุ่มก็มักจะเป็น เพื่อนที่อยู่ในปีเดียวกัน อาจจะรวมตัวกันด้วยกิจกรรมการเรียน การเล่น การเดินทางกลับบ้าน ชมรม ฯลฯ การมีแนวเพลงหรือกิจกรรมดนตรีที่ชอบ นอกจากจะได้ตัวแบบเพิ่มเติมจาก แนวดนตรี-เนื้อหาของเพลง พฤติกรรมของตัวศิลปิน การที่วัยรุ่นระบุตัวตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแฟนเพลง และได้มีปฏิสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทาง offline หรือ online การที่มีความชอบอย่างใดอย่างหนึ่งตรงกันแล้ว (ในที่นี้หมายถึงเพลง) ก็จะง่ายที่วัยรุ่นจะอนุมานไปยังค่านิยม หรือไลฟ์สไตล์ อื่น ๆ ที่น่าจะตรงกัน เมื่ออนุมานอย่างนั้นแล้วก็จะทำให้ผูกพันกันได้ง่าย เมื่อใช้เวลาและมีประสบการณ์ร่วมกันมากขึ้นก็จะมีรูปแบบการสื่อสาร หรือความเข้าใจเรื่องราว หรือมุกตลกเฉพาะกลุ่ม (Clark & Lonsdale, 2023)

 

ถ้านึกเล่น ๆ ปัจจุบันกลุ่มเกี่ยวกับดนตรีที่เป็นไปได้ในช่วงวัยรุ่นก็มีหลากหลาย กลุ่มดุริยางค์ กลุ่มดนตรีไทย-นาฏศิลป์ กลุ่มวง Band ที่พบเห็นได้ง่ายในโรงเรียน กลุ่มเต้นโคฟเวอร์ รวมไปถึงกลุ่มแฟนคลับ โอตะ ติ่ง ฯลฯ แต่ละกลุ่มก็จะมีผู้นำกลุ่มเป็นคนที่มีประสบการณ์มากกว่า อย่าง ครู-อาจารย์ รุ่นพี่ หรือกลุ่มคนที่พร้อมจะทุ่มเทเวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มมากกว่าในการ คิด ทำ ประสาน ระดมทุน ทำโปรเจกต์ใด ๆ ให้ศิลปินที่ชื่นชอบ ก็จะมีกระบวนการคล้าย ๆ การทำงาน วัยรุ่นในกลุ่มที่ได้มีปฏิสัมพันธ์ สังเกตเรียนรู้ผู้คนในกลุ่มที่มีอายุหรือประสบการณ์มากกกว่า ก็มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานและอาชีพเพิ่มเติมด้วย

 

ตาม Social identity theory การที่มนุษย์สามารถบรรจุตัวเองเข้าไปในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แนวคิดของกลุ่มก็จะมีผลในการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (self-concept) ของสมาชิก (Tajfel & Turner, 1986) สมาชิกมักต้องการพัฒนาภาพลักษณ์ของตนเอง (self-image) ในรูปแบบที่เป็นที่ชื่นชอบยอมรับของกลุ่มที่สังกัด ซึ่งก็สามารถสร้าง การเห็นคุณค่าตัวเอง (self-esteem) ในวัยรุ่นได้ ในทางกลับกัน ถ้าศิลปินตัวแบบ หรือค่านิยมร่วมของกลุ่มถูกด้อยค่า จากสังคม หรือกลุ่มอื่น ก็มีโอกาสที่จะทำให้การเห็นคุณค่าตัวเองของวัยรุ่นลดลงง่ายกว่าช่วงวัยหลังจากนั้น

 

 

สำหรับบทความนี้ก็น่าจะขอจบแต่เพียงเท่านี้ โดยรวมก็คือ ดนตรีจะสร้างกลุ่มผู้ฟังหรือกลุ่มกิจกรรมดนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเป็นสมาชิกลุ่มและการได้รับการยอมรับจากกลุ่มก็เป็นพัฒนาการทั่วไปในช่วงวัยรุ่นอยู่แล้ว เพิ่มเติมคือสมาชิกกลุ่มมีหลายวัย และกลุ่มมีความซับซ้อนหลากหลายกว่ากลุ่มเพื่อนทั่วไปในโรงเรียน วัยรุ่นได้รับแบบอย่างจาก เนื้อหา-อารมณ์ของเพลง ตัวแบบจากศิลปิน ตัวแบบจากสมาชิกกลุ่ม ฯลฯ ในการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (self-concept) รวมถึงอาจมีโอกาสได้ตัวแบบเกี่ยวกับอาชีพที่หลากหลายจากสมาชิกในกลุ่มด้วยซึ่งก็สำคัญต่อพัฒนาการทางอาชีพ และการตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพที่เกิดกับวัยรุ่นในช่วง มัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยเช่นกัน

 

 

 

อ้างอิง

 

Clark, A. B., & Lonsdale, A. J. (2023). Music preference, social identity, and collective self-esteem. Psychology of Music, 51(4), 1119-1131.

 

Fu, J., Tan, L. K., Li, N. P., & Wang, X. (2023). Imprinting-like effects of early adolescent music. Psychology of Music, 03057356231156201.

 

Rideout, V. J., Foehr, U. G., & Roberts, D. F. (2010). Generation M2: Media in the lives of 8- to 18-year-olds. Henry J. Kaiser. Family Foundation. https://eric.ed.gov/?id=ED527859

 

Tajfel, H., & Turner, J. C. (1986). The social identity theory of intergroup behaviour. In S. Worchel & W. Austin (Eds.), Psychology of intergroup relations (pp. 7–24). Nelson-Hall.

 

 

 


 

 

บทความโดย

คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Share this content