เจริญสติ ตระหนักรู้ความเจ็บปวด

21 Jul 2025

ภัทรพงศ์ สุทธิรัตน์

 

อาการปวดหลัง เป็นอาการเจ็บปวดที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างความทุกข์ทรมาน ให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจของ Global Burden of Diseases ในปี 2017 พบว่าอาการปวดหลังเรื้อรัง (chronic back pain) ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก ราว 577 ล้านคน ผลกระทบของอาการปวดหลังเรื้องรังทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง นอนไม่หลับ และ เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ดี การศึกษาเรื่องการเจริญสติบำบัดอาจช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการเจ็บปวดได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

Jon Kabat-Zinn ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นักวิจัยด้านการเจริญสติที่มีชื่อเสียง ได้ให้นิยามของสติว่า หมายถึง การตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยไม่ตัดสิน ในงานวิจัยหนึ่งของ Kabat-Zinn พบว่าการเจริญสติสามารถช่วยให้ผู้ป่วย จำนวน 90 คนมีอาการเจ็บปวดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ และ เมื่อติดตามผลอีก 4 ปีให้หลัง (follow-up) ก็พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลการวิจัยดังกล่าว จึงนำไปสู่เทคนิคการบำบัดที่เรียกว่า ที่เรียกว่า “Mindfulness-Based Stress Reduction” (MBSR)

 

Mindfulness-Based Stress Reduction เป็นกระบวนการบำบัดที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วน

  1. การฝึกสติสมาธิ (mindfulness meditation) โดยการตระหนักรู้ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ โดยไม่ตัดสิน และ ฝึกตระหนักรู้อาการปวดตึงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และ
  2. การฝึกโยคะ เพื่อยืดเหยียด และ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

 

งานวิจัยหนึ่งของ Morone และ คณะปี 2009 พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 282 คน อายุมากกว่า 65 ขึ้นไป ได้รับการฝึกฝนเจริญสติตามแนวทางของ MBSR เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยฝึกการเจริญสติสมาธิวันละ 45 นาที มีอาการปวดหลังที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับความรู้เรื่องสุขภาพ ดังนั้น การเจริญสติบำบัดอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง แต่มีงบประมาณในการรักษาที่จำกัด เนื่องจาก การฝึกสติ เป็นวิธีการที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้ยาช่วยลดความเจ็บปวด และ ไม่ต้องเสียค่าผ่าตัดราคาแพง อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

 

 

อ้างอิง

Agnus Tom, A., Rajkumar, E., John, R., & Joshua George, A. (2022). Determinants of quality of life in individuals with chronic low back pain: a systematic review. Health psychology and behavioral medicine, 10(1), 124–144. https://doi.org/10.1080/21642850.2021.2022487

 

James, S. L., Abate, D., Abate, K. H., Abay, S. M., Abbafati, C., Abbasi, N., … & Briggs, A. M. (2018). Global, regional, and national incidence, prevalence, and years lived with disability for 354 diseases and injuries for 195 countries and territories, 1990–2017: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2017. The lancet, 392(10159), 1789-1858.

 

Kabat-Zinn, J., Lipworth, L., Burncy, R., & Sellers, W. (1986). Four-year follow-up of a meditation-based program for the self-regulation of chronic pain: Treatment outcomes and compliance. The Clinical Journal of Pain, 2(3), 159-774.

 

Morone, N. E., Greco, C. M., Moore, C. G., Rollman, B. L., Lane, B., Morrow, L. A., Glynn, N. W., & Weiner, D. K. (2016). A Mind-Body Program for Older Adults With Chronic Low Back Pain: A Randomized Clinical Trial. JAMA internal medicine, 176(3), 329–337. https://doi.org/10.1001/jamainternmed.2015.8033

 

 

 


 

 

บทความโดย
คุณภัทรพงศ์ สุทธิรัตน์
นักจิตวิทยา

Share this content