รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติ

08 Jul 2018

ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจหรือเกิดวิกฤติในสังคม หลายคนต่างติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุค และทวิตเตอร์ ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารแบบนาทีต่อนาที แต่ก็มีหลายครั้งที่ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้รับสาร อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังเลือกที่จะเชื่อข้อมูลข่าวสารจากสังคมออนไลน์อยู่เช่นเดิม คำถามที่น่าสนใจคือเพราะเหตุใด?

 

นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องการเปิดรับข้อมูลข่าวสารและพบว่า การส่งต่อข้อมูลข่าวสารแบบ Word-of-mouth หรือ “ปากต่อปาก” จากเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดนั้น เป็นกลวิธีในการเผยแพร่ข้อมูลที่ทรงอิทธิพลและก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อผู้รับสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้รับสารจะเกิดความรู้สึกว่า ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ

 

ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์กรหนึ่ง ออกมาให้ข้อมูลในขณะเกิดภาวะน้ำท่วมว่า ระดับน้ำยังคงทรงตัว อันเป็นผลมาจากการวางแผนขององค์กรของตนเอง เปรียบเทียบกับ นางสาว B ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และเป็นเพื่อนสนิทกับผู้รับสาร ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ระดับน้ำยังไม่แน่นอน ในกรณีนี้ผู้รับสารมักเชื่อถือข้อมูลของนางสาว B มากกว่านาย A เพราะนางสาว B ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการนำเสนอข้อมูลเหมือนกับ นาย A

 

ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้น้ำหนักกับข้อมูลจากบุคคลในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนเองรู้จัก สนิทสนม คุ้นเคย มากกกว่า อย่างไรก็ดี ผู้รับสารก็ยังควรพิจารณาข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ เพราะการส่งต่อข้อมูลแบบ “ปากต่อปาก” นั้นกว่าจะมาถึงเรา ก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน

 

 

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เมื่อมีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในแง่ใดแล้ว ก็มักชอบค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนเพียงอย่างเดียว และเลือกที่จะไม่เปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง

 

นักจิตวิทยาสังคมเรียกลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี่ว่า “อคติในการยืนยันความเชื่อของตน” หรือ Confirmation bias ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลพยายามค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนสมมติฐานของตนเอง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นอันตรายต่อการตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรมของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น การเกิดภัยธรรมชาติ หรือการเกิดภาวะน้ำท่วม

 

ลองคิดดูว่า หากเรามีอคติในการยืนยันความเชื่อของตน และปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราอย่างแน่นอน จึงค้นหาข้อมูลที่สนับสนุนความคิดที่ว่าน้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราเพียงอย่างเดียว แม้จะมีข้อมูลจากหน่วยงานหนึ่งที่ระบุว่า ย่านที่เราอาศัยอยู่ มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังภัย แต่เราเลือกที่จะไม่เปิดรับหรือเชื่อถือข้อมูลดังกล่าวเลย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะมีมากน้อยเพียงใด หรือในทางตรงกันข้าม หากเราปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะท่วมที่พักอาศัยของเราแน่นอน จึงค้นหาแต่ข้อมูลที่ระบุว่าน้ำจะท่วมจนทรัพย์สินจะเสียหายทั้งหมด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอาจมากเกินเหตุ จนอาจเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า และมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนได้

 

ดังนั้นแล้ว การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในยามที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ทางที่ดีที่สุด คือการเปิดรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน พยายามลดอคติที่เกิดขึ้นในใจ และรับฟังข้อมูลข่าวสารด้วยสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

 

 

การแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมต่อประเด็นหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ หรือสังคมออนไลน์

 

หลายๆ คน อาจเคยพบเจอการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ และอาจเคยพบเห็นข้อความหรือการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงมากกว่าปกติ ยิ่งกว่านั้น หากคุณเคยแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ คุณเคยรู้สึกว่า หลังจากที่แสดงความคิดเห็นบางอย่างไปแล้ว คุณยิ่งรู้สึกว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่แสดงความคิดเห็นลงไปมากขึ้นกว่าเดิม

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีคำอธิบาย….

 

คุณสมบัติสำคัญของการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์คือ Deindividuation หรือการลดอัตลักษณ์ของตนเอง ความหมายก็คือ เราไม่รู้สึกถึงความเป็นตัวเรานั่นเอง ซึ่งเกิดจากการสนทนา การแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์นั้น เป็นการสนทนา และแสดงความคิดเห็นผ่านคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เห็นหน้ากันจริง ๆ ดังนั้น เราจึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงมากกว่าปกติ

 

นอกจากนี้ การที่เราแสดงความคิดเห็นในสภาวะนิรนามเช่นนี้ เท่ากับว่าเราไม่ถูกกดดันจากสังคม หรือบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ เราจึงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่มาจากความรู้สึกนึกคิดของเราจริง ๆ ทำให้เมื่อแสดงความคิดเห็นไปแล้ว เรามักจะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เราคิดจริง ๆ ทำให้ยึดถือในความคิดเห็นของเรามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อยากให้เป็นไปในทิศทางสร้างสรรค์ หรือให้กำลังใจกันดีกว่า เพราะการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับตนเอง นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดอารมณ์ทางลบอีกด้วย

 

ในช่วงเวลาที่บ้านเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายอย่าง เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงอยากจะติดตามรับทราบข้อมูลข่าวสารกันอย่างใกล้ชิด นาทีต่อนาที โดยเฉพาะการเลือกรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ของท่าน แต่การใช้เวลาติดตามเฝ้าสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลเสียทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และที่สำคัญ ท่านอาจจะกลายเป็นคนที่ติดอินเทอร์เน็ต หรือสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “Internet addiction” ไปเลยก็ได้

 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่ในบทความออนไลน์ Psychologytoday.com รายงานว่า จากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ผลพบว่ากลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ตนเองใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ขณะที่ 40% ของกลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะขับรถ ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การที่บุคคลจดจ่ออยู่กับการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จนเกิดความเคยชินในการรับส่งข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วจากสื่อออนไลน์นี้ ทำให้บุคคลขาดความระมัดระวัง และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และบุคคลรอบตัวจริง ๆ นอกจากนี้ ข่าวที่ปรากฏให้เห็นหลายครั้งก็พบว่า พ่อแม่บางคนให้ความสนใจต่อสังคมออนไลน์มากกว่าการดูแลลูกของตน จนละเลยและทำให้ลูกของตนเองถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว

 

ดังนั้น หากคุณเลือกที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้วล่ะก็ ควรระมัดระวังถึงระยะเวลาและความถี่ในการใช้งานด้วย เพื่อจะไม่ตกเป็นทาสของสื่อออนไลน์ การใจจดใจจ่อติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา จนละเลยที่จะทำภารกิจอื่นๆ ที่สำคัญ ก็อาจส่งผลเสียได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

Share this content