ความรัก เรา และคนอื่น ๆ : ความสัมพันธ์เชิงคู่รัก และอิทธิพลของคนรอบข้าง

14 Feb 2022

รศ.สักกพัฒน์ งามเอก

ความรักอาจเป็นเรื่องของคน มากกว่า 2 คน

 

ความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่ประสบความสำเร็จอาจได้รับการสนับสนุนจากบุคคลอื่น ๆ

และความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่ประสบความล้มเหลวก็อาจได้รับการสนับสนุนจากบุคคลอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่มือที่สาม) เช่นกัน

 

หลายคนอาจมีประสบการณ์ที่สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่ “หวังดี” ให้คำแนะนำ ตักเตือน หรือแม้กระทั่ง “ด่าให้ตื่น” เมื่อพวกเขามีความเห็นว่า คนที่เรากำลังคบหาดูใจกันอยู่ไม่น่าจะเป็น “คนที่ใช่” สำหรับเรา หรือหลายคนก็อาจเคยพยายามทำหน้าที่เป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่หวังดีเสียเอง บางคนอาจคล้อยตามคนรอบข้างและเลือกที่จะยุติความสัมพันธ์ แต่บางคนก็อาจพยายามพิสูจน์ (ว่า) ตัวเอง (ถูกและคนรอบข้างผิด) และเลือกที่จะสานต่อความสัมพันธ์ การคล้อยตาม/ไม่คล้อยตามคนรอบข้างอาจขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย และ 2 ปัจจัย ที่น่าสนใจ คือ ความไว้ใจต่อความเห็นทางลบและปฏิกิริยาต่อความเห็นทางลบ

 

“ความไว้ใจ” (trust) ต่อความเห็นทางลบ (หรือการไม่ยอมรับ [disapproval]) ที่คนรอบข้างมีต่อคู่รักของเราอาจแปรเปลี่ยนได้จากหลากหลายปัจจัย

 

Jenson และคณะ (2021) ศึกษาบทบาทของปัจจัย 4 ปัจจัย ที่มีต่อความไว้ใจต่อความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง ซึ่งได้แก่

 

(i) การรับรู้ “ความเชี่ยวชาญ” ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง

(ii) หลักฐานสนับสนุนความเห็นทางลบ

(iii) การรับรู้ความลำเอียงของคนรอบข้าง

และ (iv) การรับรู้ “กระแส” ของคนส่วนใหญ่

 

Jenson และคณะ อธิบายที่มาที่ไปของปัจจัยเหล่านี้ว่า ถ้าคนที่มีความเห็นทางลบถูกมองเป็น “กูรู” หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องความสัมพันธ์ โดยที่พวกเขาอาจประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือประสบความสำเร็จในการให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น บุคคลก็อาจมีความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ นอกจากนั้น ถ้าคนที่มีความเห็นทางลบได้นำเสนอเหตุผลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือ (เช่น อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลและคู่รักอาจมีบุคลิกภาพไม่เข้ากัน หรือมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า คู่รักของบุคคลมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ) เพื่อที่จะสนับสนุนความเห็นทางลบของตัวเอง บุคคลก็อาจมีความไว้ใจต่อความเห็นทางลบเช่นกัน

 

ในทางกลับกัน หากบุคคลเชื่อถือการรับรู้และประสบการณ์ของตนเอง (ว่าจริงแท้ที่สุดแล้ว) พวกเขาจะพยายามหาคำอธิบายเมื่อได้รับความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง และคำอธิบายที่ง่ายที่สุด คือ คนรอบข้างมี “ความลำเอียง” ต่อคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของพวกเขา และพวกเขาจะไม่ไว้ใจต่อความเห็นทางลบ และสุดท้าย เมื่อบุคคลเผชิญกับความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง พวกเขาจะหันไปหาความเห็นของคนอื่น ๆ เพื่อที่จะดูว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นทางลบหรือความเห็นทางบวก (approval) และจะปรับเปลี่ยนระดับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบไปตามกระแสของคนส่วนใหญ่ (Jenson et al., 2021)

 

Jenson และคณะ (2021) เก็บข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการวิจัย 173 คน (ซึ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ ไม่ได้ มีคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ที่ไม่ยอมรับคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของพวกเขา [การมีคนรอบข้างไม่ยอมรับคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของเราน่าจะเป็นเรื่องปกติ]) ผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ “ความเชี่ยวชาญ” ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนรอบข้างและหลักฐานสนับสนุนความเห็นทางลบมีความสัมพันธ์ ทางบวก กับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ (ยิ่งมากก็ยิ่งไว้ใจ) และการรับรู้ความลำเอียงของคนรอบข้างมีความสัมพันธ์ ทางลบ กับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ (ยิ่งมากก็ยิ่งไม่ไว้ใจ) และประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผลการวิจัยนี้เกิดขึ้นกับทั้งความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่สังคมมักจะยอมรับและความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่สังคมมักจะไม่ยอมรับ (เช่น คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ คู่รักที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติและศาสนา คู่รักที่มีอายุแตกต่างกันมาก ฯลฯ)

 

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นและความไว้ใจแล้ว บุคคลยังอาจมี “ปฏิกิริยา” ที่แตกต่างกัน เมื่อเผชิญกับความเห็นทางลบที่คนรอบข้างมีต่อคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รัก ซึ่งปฏิกิริยาอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

(i) ปฏิกิริยาต่อต้าน (defiant reactance) ที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะทำตรงกันข้ามกับความเห็นทางลบ (เช่น คบหากันอย่างสนิทสนมมากขึ้น) บางคนอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า boomerang effect (ที่อาจไม่ได้สะท้อนความรักอย่างแท้จริง) หรือ Romeo and Juliet effect (ที่มักจะสะท้อนความรักอย่างแท้จริง)

 

และ (ii) ปฏิกิริยาเมินเฉย (independent reactance) ที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะไม่ใส่ใจกับความเห็นทางลบและแสดงความต้องการอิสระที่จะตัดสินใจในเรื่องความรักด้วยตัวเอง

 

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับความเห็นทางลบจากคนรอบข้างอาจสามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดบางคนที่ได้รับความเห็นทางลบจึงตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ แต่บางคนที่ได้ความเห็นทางลบกลับตัดสินใจสานต่อความสัมพันธ์ Sinclair และคณะ (2015) ได้ดำเนินการวิจัยทางจิตวิทยาเพื่อที่จะหาคำตอบของคำถามนี้ โดยใช้ทั้งการสำรวจด้วยเครื่องมือวัดทางจิตวิทยา การทดลองด้วยเรื่องราวสมมติ (experimental vignette) ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะอ่านเรื่องราวสมมติที่พ่อแม่/เพื่อนแสดงการยอมรับ (ความเห็นทางบวก) หรือไม่ยอมรับ (ความเห็นทางลบ) ต่อคู่รัก และการทดลองด้วย virtual dating game ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะเล่นเกมกับหน้าม้า (confederate) และได้รับความเห็นที่สอดคล้องกัน/ไม่สอดคล้องกันระหว่างพ่อแม่และเพื่อน

 

ผลการวิจัยโดยภาพรวม คือ ปฏิกิริยาเมินเฉยมีบทบาทค่อนข้างมากต่อการที่บุคคลจะมี “ระดับความรักความชอบพอ (คู่รักของตน)” เปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้รับความเห็นจากคนรอบข้าง กล่าวคือ เมื่อบุคคลได้รับความเห็น ทางบวก จากคนรอบข้าง พวกเขาจะมีความรักความชอบพอในระดับสูง (ซึ่งไม่น่าแปลกใจ) แต่เมื่อบุคคลได้รับความเห็น ทางลบ จากคนรอบข้าง ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่พวกเขาจะมีปฏิกิริยาเมินเฉยต่อความเห็นทางลบนั้น หากบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาก็จะลดต่ำลงเพียงเล็กน้อย แต่หากบุคคล ไม่ได้ มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาก็จะลดต่ำลงเป็นอย่างมาก ส่วนปฏิกิริยาต่อต้านไม่ได้แสดงบทบาทที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าปฏิกิริยาเมินเฉยทำได้ง่ายกว่าและไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งมากนัก (Sinclair et al., 2015)

 

ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยข้างต้น คือ เราอาจคิดว่าปฏิกิริยาเมินเฉยเป็นสิ่งที่พึงประสงค์เพราะบุคคลจะไม่เอนเอียงไปตามความเห็นจากคนรอบข้าง (ซึ่งก็ถูก) อย่างไรก็ตาม ความแน่วแน่มั่นคงนี้จะเกิดขึ้นกับทั้งกรณีที่ได้รับความเห็นทางลบและกรณีที่ได้รับความเห็นทางบวก จากงานวิจัยของ Sinclair และคณะ (2015) ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มักจะรายงานระดับความรักความชอบพอ สูงที่สุด คือ คนที่ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉยและได้รับความเห็นทางบวกจากคนรอบข้าง แต่สำหรับคนที่มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ความเห็นทางบวกจากคนรอบข้างอาจไม่ได้ทำให้ระดับความรักความชอบพอเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด (ซึ่งบางคนที่นิยมการเผื่อใจก็อาจถูกใจกับสิ่งนี้)

 

จุดเริ่มต้นของความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักคงไม่สามารถจำกัดอยู่แค่เรื่องของคนสองคนได้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คนรอบข้างมีอิทธิพลต่อความรักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของเราไม่มากก็น้อย การรักษาความสมดุลระหว่างการรับรู้ของตัวเองและความเห็นจากคนรอบข้างอาจเป็น “โจทย์” ที่คู่รักอาจต้องช่วยกันประคับประคอง

 

เมื่อความสัมพันธ์เชิงคู่รักดำเนินไปอย่างราบรื่น การลดทอนเสียงจากคนรอบข้างอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี แต่เมื่อความสัมพันธ์เชิงคู่รักเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค การรับฟังเสียงจากคนรอบข้างและการประเมินสถานการณ์บนความเป็นจริงก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน (McNulty et al., 2008) อย่างไรเสีย ความเห็นจากคนรอบข้างไม่ได้เป็น “ประกาศิต” ที่จะชี้เป็นชี้ตายความสัมพันธ์ระหว่างเราและคู่รัก แต่เป็นเพียงกระจกสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งบางบานอาจนำเสนอภาพที่ตรงกับความเป็นจริง แต่บางบานอาจนำเสนอภาพที่บิดเบี้ยว ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้านด้วยตัวเองก็ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ และสุดท้าย ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน แต่จุดสิ้นสุดของความรัก (เมื่อเกิดขึ้นแล้ว) จะ เป็นเรื่องของคนสองคนอย่างแน่นอน

 

 

รายการอ้างอิง

 

Jenson, K., Holmberg, D., & Blair, K. (2021). Trust me, he’s not right for you: Factors predicting trust in network members’ disapproval of a romantic relationship. Psychology and Sexuality, 12, 345-361.

 

McNulty, J. K., O’Mara, E. M., & Karney, B. R. (2008). Benevolent cognitions as a strategy of relationship maintenance: “Don’t sweat the small stuff” … But it is not all small stuff. Journal of Personality and Social Psychology, 94, 631-646.

 

Sinclair, H., Felmlee, D., Sprecher, S., & Wright, B. (2015). Don’t tell me who I can’t love: A multimethod investigation of social network and reactance effects on romantic relationships. Social Psychology Quarterly, 78, 77-99.

 

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Share this content