เหตุการณ์เดียวกัน ทำไมเราจึงมีชุดความจริง (ชุดความจำ) ที่แตกต่างกัน

24 Feb 2020

รวิตา ระย้านิล

 

คาดว่าทุกคนคงเคยเล่นเกมส่งต่อข้อความกันมาบ้างนะคะ เกมที่ให้ผู้เล่นยืนหรือนั่งเรียงเป็นแถวตอน โจทย์ถูกมอบให้แก่คนหัวแถว จากนั้นก็ส่งข้อความต่อให้คนข้างหลังทีละคน ๆ จนถึงผู้เล่นคนสุดท้ายปลายแถว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักปรากฏผลว่า ข้อความของคนท้ายสุดต้องมีอันผิดเพี้ยนไปจากคนแรกสุด ผิดนิดหน่อยบ้าง เพี้ยนไปไกลสุดกู่บ้าง นาน ๆ ทีจึงจะมีปรากฏการณ์ที่คนสุดท้ายสามารถขานข้อความตรงกับโจทย์ได้โดย “บังเอิญ”

 

เหล่าผู้เล่นและผู้ชมก็จะขำขันให้ความความผิดเพี้ยนนี้ แต่ใต้ความสนุกสนานของเกมนี้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราบ้าง

 

ในเกมส่งต่อข้อความ ผู้เล่นมีหน้าที่เพียง 2 อย่างเท่านั้น คือรับสารและส่งสาร โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเรากล่าวถึงความผิดพลาดในการเก็บจำและส่งต่อข้อมูล อุปสรรคที่เรานึกถึงมักจะเป็น ปริมาณของข้อมูลที่มีมากเกินไปจนเรารับไว้ไม่หมด หรือช่วงเวลาที่ได้รับจนถึงส่งต่อข้อมูลทิ้งระยะนานเกินไปจนเราจำไม่ได้ แต่กับเกมที่ปริมาณข้อมูลไม่ได้มาก เวลาที่ใช้จากคนหนึ่งถึงอีกคนหนึ่งก็แค่ชั่วพริบตาเท่านั้น เหตุใดการตกหล่นหรือผิดเพี้ยนของข้อมูลจึงยังเกิดขึ้น

 

นั่นเพราะแท้ที่จริงแล้ว ความผิดพลาดเช่นนี้ของมนุษย์เกิดขึ้นโดยง่ายแสนง่ายและเกิดขึ้นแทบตลอดเวลา สิ่งนี้สามารถยืนยันได้ด้วยการทดลองทางจิตวิทยาหลายต่อหลายงาน ในที่นี้จะยกตัวอย่างการทดลองหนึ่งจากคาบเรียนวิชาจิตวิทยาทั่วไป ที่ให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบความสามารถในการจำของตัวเองและทำความเข้าใจกระบวนการประมวลผลข้อมูล การทดลองนี้เรียกว่า การทดลองความจำที่ผิดพลาด หรือ False Memory experiment

 

ในการทดลอง ผู้เรียนจะได้รับฟังคำศัพท์ครั้งละ 12 คำ เป็นคำศัพท์ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป คำละไม่กี่พยางค์ (เช่น พยาบาล เข็มฉีดยา ผ่าตัด รักษา) เมื่อฟังคำศัพท์เสร็จแล้ว ก็จะมีเวลา 1 นาที ในการเขียนคำศัพท์ที่เพิ่งได้ยินลงไปในกระดาษ ได้ยินอย่างไรให้เขียนอย่างนั้น ห้ามแปลงคำหรือย่อคำ เขียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อหมดเวลา 1 นาที ก็จะต้องรับฟังคำศัพท์อีก 12 คำ (เช่น เพลง ไพเราะ ทำนอง นักร้อง) และมีเวลาเขียนลงกระดาษอีก 1 นาที ทำเช่นนี้ทั้งสิ้น 6 ครั้ง จึงนับว่าเสร็จสิ้นการทดลอง

 

เกิดอะไรขึ้นกับผลการทดลองของผู้เรียนบ้าง

 

ผลการทดลอง ไม่มีผู้เรียนคนใดสามารถเขียนคำศัพท์ได้ครบทั้ง 72 คำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย และสอดคล้องกับทฤษฎีเกี่ยวกับความจุของความจำปฏิบัติการ (Working memory) ที่ระบุว่าความจุของความจำปฏิบัติการมีน้อยมาก เพียง 7 ±2 หน่วย หรือราว 5-9 หน่วยเท่านั้น ในการทดลองนี้ ผู้เรียนที่สมาธิดีและมีขีดความสามารถในการจำสูง อาจเขียนคำศัพท์ได้ประมาณ 80% ของทั้งหมด (ครั้งละ 8-12 คำ) ส่วนผู้เรียนที่สมาธิไม่ค่อยดีและมีขีดความสามารถในการจำไม่สูงนัก เขียนคำศัพท์ได้ประมาณ 40-60% (ครั้งละ 5-7 คำ) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่จำนวนหรือปริมาณในการเก็บจำข้อมูล แต่อยู่ที่ในบรรดาคำศัพท์ที่ผู้เรียนระลึกได้และเขียนลงไปนั้น มีคำศัพท์ที่เขียนได้ถูกต้องและมีคำศัพท์ที่ผิดแปลกปรากฏอยู่ด้วย โดยความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นทั้งกับคนที่เขียนคำศัพท์ได้มากและเขียนคำศัพท์ได้น้อย

 

คำศัพท์ผิดแปลกแบบไหนที่ปรากฏขึ้น

 

มีผู้เรียนจำนวนมาก (จากการทดลองในหลายๆ ภาคการศึกษา) เขียนคำว่า “นางพยาบาล” แทนคำว่า “พยาบาล” เขียนคำว่า “พระอาทิตย์” แทนคำว่า “ดวงอาทิตย์” และเขียนคำว่า “พื้นไม้” แทนคำ 2 คำคือ “พื้น” และ “ไม้”

 

จะเห็นได้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ซึ่งในสถานการณ์ทั่วไปอาจไม่นับเป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้ทำให้ความเข้าใจเปลี่ยนไป ไม่ได้กระทบกับเนื้อหาของสารในภาพรวม แต่ในการทดลองที่มีกติกาชัดเจนให้ผู้เรียน ฟัง จำ และเขียนคำศัพท์ แบบคำไหนคำนั้น อีกทั้งการแบ่งข้อมูลเป็นครั้งย่อย ๆ ครั้งละ 12 คำ ก็ไม่ใช่ปริมาณและการทิ้งเวลาที่มากเกินไป ดังนั้นความผิดพลาดนี้จึงสามารถนับว่าเป็นความผิดพลาด และเป็นความผิดพลาดที่ต้องหาคำอธิบาย

 

ทั้งที่เสียงที่เข้าหูคือคำว่า “ดวงอาทิตย์” แต่ทำไมผู้เรียนหลายคนจึงเขียนว่า “พระอาทิตย์”

 

ปรากฏการณ์นี้ต้องมาวิเคราะห์ถึงกระบวนการประมวลผลข้อมูลของมนุษย์ นักจิตวิทยาได้เปรียบเทียบการทำงานของสมองมนุษย์กับระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ไว้ว่า กระบวนการประมวลผลเริ่มต้นตั้งแต่การทำงานของอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5 ของเรา ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรสชาติ และการรับสัมผัสที่ผิวหนัง เมื่ออวัยวะรับสัมผัสทำงานแล้ว สมองของเราจะเข้ารหัส (encoding) ข้อมูลที่ได้จากประสาทสัมผัส มาเป็นข้อมูลที่เราจะบรรจุไว้ในระบบความจำ — การเข้ารหัสคือการแปลผลข้อมูลว่าสิ่งเร้าที่มากระทบประสาทสัมผัสของเรานั้นมีภาพ (visual) เสียง (acoustic) หรือ ความหมาย (semantic) ว่าอย่างไร โดยเราอาจอ้างอิงจากความรู้และประสบการณ์เดิมที่มี — จากนั้นสมองของเราก็จะเก็บรักษา (storing) ข้อมูลนั้นไว้ จนกว่าเราจะค้นคืน (retrieval) หรือดึงข้อมูลความจำออกมาใช้งาน

 

ความแตกต่างระหว่างระบบความจำของมนุษย์และการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็คือ สำหรับคอมพิวเตอร์ เรา input ข้อมูลไปอย่างไร ก็ output ออกมาอย่างนั้น ตราบใดที่ใส่คำค้นถูกต้อง แต่สำหรับมนุษย์ ในทุกกระบวนการตั้งแต่ input ถึง output นั้น ความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีปัจจัยมากมายที่มีผลกระทบต่อความแม่นยำของความจำ ตั้งแต่ “ความใส่ใจ” ต่อสิ่งเร้าที่กระทบประสาทสัมผัส (เช่น เสียงครูเลคเชอร์กับเสียงชวนคุยของเพื่อนดังขึ้นพร้อมกัน เราใส่ใจฟังเสียงใดมากกว่ากัน) การเข้ารหัส เราเข้ารหัสด้วยวิธีใด ข้อมูลถูกเก็บรักษาไว้นานเพียงใด และตอนค้นคืน เราใช้ตัวชี้แนะใดในการดึงข้อมูลออกมา

 

กลับมาที่การทดลองข้างต้น ในการฟังคำศัพท์ครั้งละ 12 คำของผู้เรียน ผู้เรียนเข้ารหัสเสียงที่ได้ยินด้วยความตั้งใจ (อาจจะมีสมาธิหลุดได้บ้าง) แม้ว่าผู้เรียนรับสิ่งเร้าด้วยเสียง แต่เนื่องจากคำศัพท์ที่ได้ยินเป็นคำศัพท์ภาษาไทย เป็นคำคุ้นเคยที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ผู้เรียนจะเข้ารหัสด้วยการนึกภาพตามและทำความเข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้ยินไปโดยอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการค้นคืนข้อมูลเพื่อเขียนคำศัพท์ที่เพิ่งได้ยินนั้น มีโอกาสสูงที่ผู้เรียนจะใช้ตัวชี้แนะที่เป็นภาพหรือเป็นความหมายของคำ มากกว่าเสียงของคำคำนั้นที่ได้ยินจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ คนใดที่คุ้นเคยกับการใช้คำว่า “พระอาทิตย์” มากกว่า “ดวงอาทิตย์” ก็อาจระลึกถึงคำที่ต่างกันเล็กน้อยแต่มีความหมายเดียวกันขึ้นมาแทน ยิ่งไปกว่านั้นการถูกกระตุ้นด้วยชุดคำอย่างเช่น “เตียง หมอน ผ้าห่ม” ก็สามารถทำให้ระลึกถึงคำที่ไม่มีอยู่ในการทดลอง เช่น “นอน” แล้วตอบลงไปในกระดาษได้

 

อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจจะคิดว่าความจำที่คลาดเคลื่อนเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายก็จริง แต่จะมาอธิบายความความจำที่ผิดพลาดประเภทเปลี่ยนสาระของเรื่องราวไปเลยได้อย่างไรกัน

 

ท่านเคยเผชิญหรือพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้บ้างหรือไม่

 

  • เดินออกมาจากร้านค้าสักพักแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่ารับเงินทอนมาแล้วหรือยัง หรือเมื่อสักครู่จ่ายด้วยแบงค์อะไรไป เงินทอนที่ได้มานั้น พอดี หรือเกิน หรือขาด
  • เพื่อนนำเงินที่ยืมไปมาคืนโดยที่เราไม่ได้ทวง เพราะเราคิดว่าเพื่อนคืนเงินจำนวนนี้มาแล้ว (หรือกลับกันคือเราไปทวง แต่เพื่อนบอกว่าได้คืนเงินมาให้เราตั้งนานแล้ว)
  • จำได้ว่าวางของไว้ที่เดิม แต่ของกลับหายไปไหนก็ไม่รู้ (โดยไม่มีใครหยิบไปแน่นอน เพราะเราใช้อยู่คนเดียว) มาพบของอีกทีก็พร้อมกับที่นึกขึ้นได้ว่าเราเองที่ถือติดมือมาแล้ววางมันไว้ตรงนี้

 

นี่คือตัวอย่างความจำที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่าถึงแม้ไม่ใช่ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ แต่ความจริงกับความจำก็มีสาระที่เปลี่ยนไปเป็นคนละเรื่อง — ทอนแล้วหรือยังไม่ทอน คืนแล้วหรือยังไม่คืน วางไว้ตรงนี้หรือวางไว้ตรงไหน

 

นั่นเป็นเพราะคนเราไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยสติหรือให้ความใส่ใจกับทุกสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบ ทั้งยังเข้ารหัสข้อมูลด้วยวิธีการที่ประหยัดแรม (อิงข้อมูลใหม่กับความจำเดิม แทนที่จะบรรจุข้อมูลทีละหน่วยอย่างปราณีตและเป็นอิสระจากข้อมูลอื่น)

 

สิ่งใดที่เรามองว่าไม่สำคัญ เราก็ไม่ได้หยิบมาคิดทบทวนซ้ำ ๆ ไม่ได้ย้ายมันเข้ามาอยู่ในความจำระยะยาว (long-term memory) ดังนั้นเมื่อเราค้นคืนข้อมูลออกมาใช้ สิ่งที่เราได้มา ก็สามารถหล่น ๆ หาย ๆ หรือไปสลับสับมั่วกับเหตุการณ์อื่นที่คล้าย ๆ กันได้ เราสามารถสับสนระหว่างความจริงหนึ่งกับอีกความจริงหนึ่งได้ หรือกระทั่งสับสนระหว่างความจริงกับจินตนาการหรือเรื่องที่คิดไว้ (แต่ไม่ได้ทำ) ก็ได้

 

ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราพบว่าความจำของเราไม่ตรงกันกับความจำของคนอื่นที่เผชิญเหตุการณ์เดียวกันมา เราจึงไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าอีกฝ่ายโกหก และไม่อาจตัดสินได้ว่าความจำของคนไหนที่ถูกต้องแม่นยำและของคนไหนมั่ว เพราะคนที่มั่วอาจจะเป็นเราเอง หรืออาจจะมั่วกันทั้งหมดและความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่งเลยก็ได้

 

สิ่งที่อยากจะฝากไว้สำหรับบทความนี้ก็คือ คนเรานั้นมักเชื่อถือตัวเองที่สุด คิดเข้าข้างตัวเองเป็นธรรมชาติ เมื่อพบอะไรก็ตามที่ไม่ตรงกับความคิดความเชื่อหรือความจำของเรา เราก็มักจะปฏิเสธและโทษสิ่งรอบข้าง แต่หากเรารู้จัก เข้าใจ และยอมรับในข้อบกพร่องอันเป็นธรรมดาของคนทุกคนได้ เราจะถกเถียงยันถูกยันผิดกันน้อยลง แล้วเอาเวลาไปย้อนรอยหาความจริงกันแบบไม่โทษใครได้มากขึ้น

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content