ปัจจัยที่ส่งผลให้คนรับสารภาพเท็จ

01 Jan 2017

บริการวิชาการ

 

ผลของเทคนิคการสอบสวน หลักฐานเท็จ การยอมตาม และการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามต่อการรับสารภาพเท็จ

 

งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลโดยการให้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 165 คน ทำแบบวัดบุคลิกภาพ โดยการตอบมาตรวัดการยอมตาม และการทดสอบการคล้อยตามสิ่งชี้นำ จากนั้นจึงให้พิมพ์งานทางคอมพิวเตอร์ด้วยการพิมพ์สัมผัส โดยผู้วิจัยได้สร้างสถานการณ์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดของผู้เข้าร่วมวิจัย และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเพื่อวัดการสารภาพ และหากมีผู้เข้าร่วมการวิจัยคนใดรับสารภาพเท็จ จึงซักถามต่อว่าสารภาพเท็จเพราะเหตุใด

 

ผลการทดลองพบว่า มีผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ยอมสารภาพเท็จถึง 94 คน โดยเป็นการสารภาพเท็จแบบยอมตาม 53 คน และสารภาพเท็จจากภายในหรือเชื่อว่าตนกระทำผิดจริง 41 คน และส่วนที่เหลืออีก 71 คน ยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเอง

 

จากการวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยที่สามารถทำนายการ “สารภาพเท็จ” ได้ในงานวิจัยนี้ มีดังนี้

 

ปัจจัยสถานการณ์

 

1. เทคนิคการสอบสวน

กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการใช้เทคนิคการสอบสวนแบบลดความรุนแรง (ทำให้ผู้ต้องหารู้สึกไว้วางใจ ทำเหมือนเรื่องที่ผู้ต้องหากระทำไม่ใช่เรื่องใหญ่ และพูดเหมือนว่าถ้ายอมรับสารภาพโทษจะเบาลง) ยอมให้การรับสารภาพเท็จมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการใช้เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรง (ใช้การกล่าวหาอย่างรุนแรง ต่อว่า และทำให้โทษดูยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เป็น)

 

2. การให้หลักฐานเท็จ

กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับหลักฐานเท็จ ยอมให้การรับสารภาพเท็จ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับหลักฐานเท็จ
(เนื่องจากหลักฐานเท็จทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่มีหนทางต่อรอง และไม่อาจหลีกเลี่ยงการรับโทษได้ จึงต้องยอมรับสารภาพเท็จในที่สุด)

 

3. อัตราเร็วในการพิมพ์

อัตราเร็วในการพิมพ์สามารถทำนายการรับสารภาพเท็จแบบยอมตามได้ แต่ไม่สามารถทำนายการรับสารภาพเท็จจากภายในและการสารภาพเท็จโดยรวมได้

 

ปัจจัยบุคลิกภาพ

 

4. การยอมตาม

บุคลิกภาพแบบยอมตามมีความสัมพันธ์กับการรับสารภาพเท็จ (ทั้งนี้ การยอมตามแตกต่างจากการคล้อยตามคือ การยอมตามเกิดโดยที่ผู้ยอมตามรู้สึกตัวเสมอว่ากำลังถูกบังคับให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่การคล้อยตามสิ่งชี้นำ ผู้คล้อยตามมิได้รู้สึกตัวว่ากำลังถูกชี้นำอยู่)

 

 

การวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า การคล้อยตามสิ่งชี้นำไม่สามารถทำนายการรับสารภาพเท็จได้ แต่สามารถทำนายการสร้างเรื่องราวเท็จได้ กล่าวคือ ในกลุ่มที่รับสารภาพเท็จจากภายใน ผู้วิจัยจะให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยเล่าว่าตนเองทำผิดพลาดอย่างไรจึงเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งผู้ที่สามารถเล่าเหตุการณ์ (ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง) ได้ มักเป็นผู้ที่คล้อยตามสิ่งชี้นำได้ง่าย

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของเทคนิคการสอบสวน หลักฐานเท็จ การยอมตาม และการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามต่อการรับสารภาพเท็จ”

“Effects of interrogative technique, false evidence, compliance and interrogative suggestibility on false confession”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553)
โดย นางสาวภัทรา พิทักษานนท์กุล
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : อาจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18153

Share this content