ความคิดของเราที่ส่งผลต่ออาการซึมเศร้าและวิตกกังวล

15 Apr 2020

ผศ. ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

 

ความคิดของคนเรานั้นนอกจากจะมีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของเราแล้ว ยังส่งผลต่อสภาวะทางจิตของเราอีกด้วย โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล

 

อาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล ทั้ง 2 อาการนี้มีความแตกต่างกัน และมีความรุนแรงต่างกัน ดังนี้

 

 

อาการซึมเศร้า


 

เรามักจะได้ยินคนทั่วไปพูดถึงอารมณ์และความรู้สึกเศร้ากันอยู่บ่อย ๆ แต่อาการซึมเศร้านี้มิได้เพียงรู้สึกเศร้าบ่อยครั้งหรือแทบทุกวันเท่านั้น โดยหลักใหญ่ ๆ แล้ว ผู้ที่มีอาการซึมเศร้านอกจากจะมีความรู้สึกเศร้า หดหู่แล้ว ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงานหรือทำกิจกรรม ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและกิจกรรมต่าง ๆ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า รู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดตลอด มีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอน และน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง นอนไม่หลับหรือนอนมากจนเกินไป เป็นต้น อีกทั้ง คิดอะไรได้ช้าลง ไม่ค่อยมีสมาธิ ตัดสินใจช้า ในบางคนอาจมีอาการท้อแท้และคิดถึงเรื่องฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ก่อกวนการดำเนินชีวิตตามปกติของคนเราอย่างมาก

 

ทั้งนี้เนื่องมาจากสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนเราต้องแข่งขันในการดำรงชีวิตตลอดเวลา รวมทั้งปัจจุบันมีเหตุการณ์ไม่ดีหลาย ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนอาหาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คุกคามการดำเนินชีวิตของคนมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเราต้องพยายามต่อสู้และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ความเครียดและสภาพความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับจิตใจคนเหล่านี้ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

 

 

อาการวิตกกังวล


 

อาการวิตกกังวล ถือว่าเป็นอาการปกติที่ทุกคนจะต้องประสบเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยปกติแล้วนักจิตวิทยาถือว่าความวิตกกังวลระดับน้อยถึงปานกลางนั้นมีประโยชน์กับคนเราเหมือนกัน เพราะความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจะทำให้เราพยายามปรับปรุงสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดในอนาคต และยังเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตของเราอีกด้วย แต่ทว่าคนที่มีความวิตกกังวลจนถึงขั้นมากผิดปกตินั้น ความกังวลดังกล่าวก็ทำร้ายตัวของเขาเองอย่างรุนแรง คนเหล่านี้จะมีอาการกังวลมากจนเกินปกติ รวมถึงอาการกลัวและหวาดระแวงมากกว่าปกติอีกด้วย

 

อาการดังกล่าวจะส่งผลถึงสภาพทางร่างกายด้วย คือ ผู้ที่มีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติอาจมีอาการใจสั่น หรือหายใจขัด มือไม้สั่น บางรายอาจมีอาการมึน วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว ปวดท้อง มีอาการตึงของกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการเหล่านี้มักจะเป็นแบบเรื้อรัง ไม่หายขาด จะเกิดขึ้นรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความวิตกกังวล และความกลัว เราอาจมองได้ว่าเป็นอาการพื้น ๆ ไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ทว่าอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของเราไม่น้อยเลยทีเดียว บางรายไม่สามารถทำงานที่ตนเองวางเป้าหมายไว้ได้ หรืองานที่ทำไม่ประสบความสำเร็จ โดยอาการวิตกกังวลนี้มักจะเกี่ยวของกับอาการซึมเศร้าเป็นอย่างมาก ปัจจุบันพบว่าผู้ที่มีอาการวิตกกังวลมักจะมีอาการซึมเศร้าร่วมอยู่ด้วย นักจิตวิทยาเองก็พยายามหาสาเหตุและวิธีการเพื่อมาช่วยบำบัดอาการดังกล่าว เพราะถึงแม้ว่าเป็นสภาพทางอารมณ์ที่ไม่รุนแรงมากเท่าโรคทางจิตประเภทอื่น ๆ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในงานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงจะมีอาการวิตกกังวลมากกว่าผู้ชาย และมักจะเกิดในผู้หญิงที่อยู่แยกกับสามี หย่าร้าง หรือเป็นหม้าย ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดก็พบว่ามีอาการวิตกกังวลเช่นกัน แต่ไม่สูงเท่าผู้หญิงในสามกลุ่มแรก

 

 

ความคิดของคนเราเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้อย่างไร


 

หากเราพูดถึงหลักวิชาการที่ว่าด้วยสาเหตุของความผิดปกติทางจิต เรามักจะมุ่งประเด็นของสาเหตุไปที่การถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือ สิ่งที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลาน ผ่านทางรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่ายีนส์ นอกจากพันธุกรรมที่มีผลต่อความผิดปกติทางจิตแล้ว สภาพแวดล้อมก็ส่งผลเช่นเดียวกัน นักจิตวิทยาบางกลุ่มจึงมาให้ความสนใจกับการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อหาทางป้องกันและบำบัดอาการทางจิตดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเกิดมาโดยมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเหล้าเนื่องจากบรรพบุรุษหรือพ่อหรือแม่มีอาการดังกล่าว แต่หากเด็กคนนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง คือ พ่อแม่ไม่ดื่มเหล้า คบเพื่อนที่ไม่ดื่มเหล้าของมึนเมา เด็กคนนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่ไม่ติดเหล้าก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สรุปได้ว่าปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมและอาการทางจิตได้ เช่นเดียวกับภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล นอกจากนี้ยังมีสาเหตุปลีกย่อยอีก เช่น สารสื่อประสาทในสมองบางตัวทำงานผิดปกติ บางอย่างมากไป หรือบางอย่างน้อยไปก็ส่งผลต่ออาการทั้งสองชนิดนี้ได้เช่นกัน

 

แต่ทว่า นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งพบว่า ความคิดของเราส่งผลให้อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งลักษณะหรือรูปแบบการคิดนี้เราเรียกว่า Rumination หรือ การย้ำคิดหรือการคิดหมกมุ่น ซึ่งมีการศึกษาเรื่องของการคิดหมกมุ่นมากว่า 20 ปีแล้ว และจากผลการวิจัยจำนวนมากพบว่า การที่คนเราคิดหมกมุ่นหรือคิดมากจนเกินไปจะส่งผลต่ออาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก การคิดหมกมุ่นนี้ไม่ใช่การคิดเรื่องทั่วไป แต่เป็นการที่คนเราคิดเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้นกับตนเอง ความผิดพลาดที่ผ่านมาของตนเอง หรือสิ่งที่ตัวเองกลัวว่าจะเกิดในอนาคต ความเศร้า และความปล่าวเปลี่ยวที่ตนเองกำลังประสบอยู่ซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานาน ๆ

 

จากการวิจัยพบว่า ความคิดเหล่านี้ทำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวลอยู่แล้ว มีอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อทดลองในคนที่ไม่เคยมีอาการซึมเศร้าเลย โดยให้ลองคิดเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวไว้ข้างต้นก็พบว่า แม้แต่ในคนปกติเองเมื่อทดลองให้คิดในสิ่งไม่ดีซ้ำไปซ้ำมา ก็เกิดอาการซึมเศร้าขึ้นมาได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ เราอาจเกิดข้อสงสัยได้ว่า การที่เราคิดย้อนกลับไปถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตหรือห่วงเรื่องไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันไม่ดีจริงหรือไม่ เนื่องจาก เมื่อเราคิดถึงข้อผิดพลาดเราจะได้รู้ว่า เราเคยทำพลาดตรงไหนมา เราก็จะได้แก้ไขโดยไม่ทำข้อผิดพลาดนั้นอีก และถ้าเราคิดถึงผลไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะได้ป้องกันตัวเองเสียก่อน โดยหากกล่าวถึงข้อดีในประเด็นนี้ ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้อง หากแต่ว่าคนบางคนเมื่อคิดถึงข้อผิดพลาดในอดีตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วไม่สามารถหาวิธีการแก้ปัญหาได้ เพราะแทนที่จะคิดหาวิธีแก้ปัญหา กลับคิดแต่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันมาจากความโง่เขลาเบาปัญญาของตัวเอง ความไม่เก่งของตัวเอง ความแย่ของตัวเอง หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมันจะต้องแย่หรือไม่ดีเท่านั้น โดยความคิดเหล่านี้เอง ทำให้คนเหล่านี้มีอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลที่รุนแรงขึ้น เพราะหมกมุ่นคิดแต่เรื่องทางลบของตัวเองจนลืมคิดถึงทางแก้ไข สุดท้ายก็บั่นทอนสุขภาพจิต สมองไม่ได้รับการพักผ่อนเนื่องจากเมื่อคิดถึงเรื่องไม่ดีซ้ำไปซ้ำมา สารสื่อประสาทที่ไม่ดีก็ออกมามาก ความเครียดก็เพิ่มขึ้น ที่เศร้าอยู่แล้วก็เศร้าขึ้นไปอีก ที่กังวลอยู่แล้วก็ยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก

 

ระหว่างคิดให้มากเพื่อหาทางแก้ปัญหา กับคิดมากจนเกินไปเลยแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไปมัวหมกมุ่นกับเรื่องแย่ ๆ ของตนเองนั้นต่างกันอย่างไร ยังมีงานวิจัยบางส่วนพบอีกว่า การที่เราคิดหมกมุ่นมากจนเกินไปนั้นยังส่งผลต่อความจำของเราด้วย มีการทดสอบผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าและมีลักษณะคิดหมกมุ่นสูงให้ลองพูดถึงความทรงจำในอดีตโดยดูจากคำที่กำหนดให้ เช่น เมื่อผู้ป่วยเห็นคำว่า ความสุข ผู้ป่วยจะต้องเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เขามีความสุข โดยต้องเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิด วัน เวลา และสถานที่ที่เฉพาะเจาะจง พบว่าผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าและมีรูปแบบการคิดแบบหมกมุ่นสูง จะไม่สามารถบอกเหตุการณ์ วัน เวลา และสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงได้ ทั้งนี้นักทฤษฎีทางจิตวิทยาได้อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้น่าจะเกิดจาก ผู้ป่วยมัวแต่คิดถึงสภาพของตนเองในทางลบมากจนเกินไป จนไม่สามารถจะระลึกถึงสิ่งที่เฉพาะเจาะจงได้ ทว่า ตอนนี้ยังไม่มีผลการวิจัยที่ชี้ชัดลงไปว่าการที่เราคิดมากจนเกินไปจะส่งผลไม่ดีต่อระบบความจำของเรา หากเราป้องกันตัวไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย

 

 

เราสามารถป้องกันตัวเองกันได้อย่างไร?


 

การรักษาอาการซึมเศร้าในปัจจุบันมักจะใช้การรักษาด้วยยาเป็นเสียส่วนมาก เพราะได้ผลรวดเร็วกว่าการรักษาประเภทอื่น ๆ แต่มีรายงานหลายฉบับพบว่า การที่เราสามารถควบคุมความคิดของเราได้ก็สามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้มากเช่นกัน โดยความคิดและใจของเรานี้เป็นใหญ่ เหมือนที่พระท่านว่า คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น คิดดีก็ได้ดี คิดไม่ดีก็ได้ไม่ดี คือไม่สบายใจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พยายามหยุดการคิดหมกมุ่นให้ได้นั่นเอง พยายามอยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดอารมณ์ความรู้สึกไปติดกับอดีตหรืออนาคต อดีตคือบทเรียน แต่ทำใจและทำสมาธิอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด

 

 

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content