หากคุณกำลัง “กลัว เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า” จากภาวะวิกฤต COVID-19

16 Apr 2020

คุณฐิตาภา ชินกิจการ และอาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล

ความไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปถึงเมื่อไหร่ การคาดเดาไม่ได้ ในภาวะที่เรารับรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และใกล้ตัวเรา ชุมชนเรามากขึ้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มขึ้น สามารถส่งผลให้เรารู้สึกวิตกกังวล และเครียดต่อสถานการณ์ ซึ่งนอกจากความวิตกกังวล และเครียด ต่อตัวไวรัสนี้แล้ว เราต่างมีความเครียดและห่วงเรื่องการหาเลี้ยงปากท้องด้วย เจ้าของกิจการต้องมีการปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจกันใหม่เพื่อความอยู่รอดของบริษัท ที่จะแฝงมาด้วยความอยู่รอดของคนในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ และรวมถึงพนักงานลูกจ้างและครอบครัวลูกจ้างที่จะทำยังไงให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน

 

เรามีวิธีการรับมือกับความวิตกกังวล และเครียด อย่างไรบ้าง

 

อันดับแรกเลย ก่อนที่เราจะไปจัดการกับความกลัวหรือวิตกกังวล เราควรทำความเข้าใจก่อนว่าความกลัวหรือความวิตกกังวลมันต่างกัน

 

ในสถานการณ์ที่เรารับมือไม่ได้ เราจะเกิด “ความกลัว” เรามักจะกลัวในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เรารู้สึกถึงความไม่มั่นคงไม่ปลอดภัย ซึ่งจริง ๆ ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป ความกลัวอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ การที่เรารู้จักที่จะกลัว แปลว่า เราจะไม่ทำอะไรแบบบ้าระห่ำ เราจะรู้จักการวางแผนก่อน

 

“ความกลัว” มีอยู่ 2 แบบ คือ

  1. ความกลัวในสิ่งที่รับมือไม่ได้
  2. ความกลัวที่จะสร้างให้เรารู้ว่าเราจะรับมือกับปัญหาหรือการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง

ระดับของความกลัวจึงมีความสำคัญ หากเราควบคุมความกลัวให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ เราจะใช้ความกลัวให้เกิดประโยชน์ได้ ให้ความกลัวนั้นสร้างให้เราเตรียมรับมือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีโควิด ก็จะล้างมือบ่อย ๆ ไม่ไปที่ชุมชน และรักษาระยะห่าง

 

แต่หากเป็นความกลัวเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ที่สัมพันธ์กับบริบทที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้ เราก็ควรใช้ระดับของความกลัวที่จะสร้างการรับมือว่าเราจะปรับตัวอย่างไรดี ทำอย่างไรดีเพื่อให้เรายังพอทำมาหากินต่อไปได้ เช่น เปลี่ยนเป็นขายของออนไลน์ ค้าขายออนไลน์มากขึ้น

 

แต่บางอาชีพก็น่าเห็นใจ บางอย่างก็ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้เหมือนกัน ซึ่งเมื่อปรับเปลี่ยนไม่ได้เราอาจจะเกิดความเครียด เราต้องตระหนักรู้ว่าตอนนี้เราเครียด แล้วเราจะจัดการกับความเครียดในสิ่งนั้นได้อย่างไร เรามีหนทางออกยังไงได้บ้าง เราแก้ไขมันได้หรือไม่

 

เมื่อเรามีความกลัว เราก็อาจจะมีความกังวล เช่น กลัวเรื่องปากท้อง และกังวลว่าเราจะไปรอดมั้ย ทำอย่างไรต่อดี

 

“ความกังวล” เป็นเรื่องของความคิดที่เราสามารถหาวิธีการจัดการได้ ซึ่งแตกต่างจากความวิตกกังวลที่มักทำให้เรารู้สึกร้อนรนจนหาทางออกไม่ได้ค่ะ

 

เมื่อเราเกิดความกังวล เราต้องมาถามก่อน :

  1. “What” เรากังวลเรื่องอะไร
  2. “Why” ทำไมเราถึงกังวล มันส่งผลกระทบหรือ “affect” เราอย่างไร
  3. “How” เราจะแก้ไขมันอย่างไร เราทำอะไรกับมันได้บ้าง

 

การเรียงลำดับความกังวลของเราโดยการตั้งคำถามเหล่านี้ เราก็จะเริ่มคลายมันออก พอเราจัดการได้ มันจะไม่นำไปสู่ความวิตกกังวล เมื่อเราวิตกกังวล เราจะตั้งคำถามอย่างเดียว เช่น เราติดไวรัสหรือยัง แต่ไม่เกิดการตั้งคำถามที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ว่าเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร

 

ความวิตกกังวล คือ เมื่อเราเริ่มลนลานเราจะทำพฤติกรรมโดยไม่ได้ยั้งคิด เช่น ซื้อสินค้ามาตุนไว้ ซึ่งได้ตั้งคำถามหรือไม่คะว่าเราทำสิ่งนั้น ๆ ทำไม มีเหตุผลรองรับหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มี เราจะรู้สึกเลยว่า เราทำทุกอย่างด้วยความเหนื่อยล้า เพราะเราวิตกกังวลมาก จนเราเหมือนรู้สึกว่าสิ้นหวัง ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร สักพักก็อาจจะเริ่มหมดความสนใจ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าได้ค่ะ

 

ความเครียดและความกลัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันสามารถทำให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ได้ ลองดูว่าเราจะจัดการมันอย่างไร และแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราควบคุมมันได้ เราจะไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง และก็เครียดจนกระทั่งพาล จนไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในบ้านกับคนในครอบครัว หรือ แม้กระทั่ง ทำให้ภาวะอารมณ์ตัวเองไม่คงที่จนทำงานไม่ได้ค่ะ

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการโดย

 

คุณฐิตาภา ชินกิจการ

นักจิตวิทยาคลินิก

และ

อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content