กรอบความคิด “การเลือก” (choice mindset)

06 Jun 2023

รศ.สักกพัฒน์ งามเอก

 

การมี “ตัวเลือก” (choice) อย่างพอประมาณ ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ “ดี” ในชีวิต เมื่อไม่มีตัวเลือกหรือมีตัวเลือกน้อยเกินไป บุคคลอาจรู้สึกไม่มีอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ในทางกลับกัน เมื่อมีตัวเลือกมากเกินไป บุคคลอาจรู้สึกท่วมท้นกับข้อมูลที่มีอยู่และไม่สามารถประมวลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรเสีย เราจะบอกได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรา “ลงมือทำ” ในแต่ละวัน อะไรเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจาก “การเลือก” ของเรา และอะไรเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เลือกหรือไม่มีโอกาสที่จะได้เลือก

 

ลองนึกถึงเช้าวันหนึ่งที่กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างปกติ คุณตื่นขึ้นมา อาบน้ำแต่งตัว และรับประทานอาหารเช้าก่อนที่จะเดินทางไปเรียน/ทำงาน ในช่วงเวลาสั้น ๆ (น่าจะประมาณ 1-2 ชั่วโมง) คุณได้ตัดสินใจเลือกและไม่เลือกอะไรไปบ้าง ในช่วงเวลาดังกล่าว บางคนอาจมองว่า พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเลือกอะไรเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างแทบจะเป็นอัตโนมัติ แต่บางคนอาจมองว่า พวกเขาได้ตัดสินใจเลือกไปแล้วหลายครั้ง เริ่มต้นจากเลือกที่จะปิดนาฬิกาปลุกและลุกขึ้นจากเตียง เลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เวลาอาบน้ำ เลือกเสื้อผ้าที่จะแต่งตัว เลือกอาหารเช้าที่จะรับประทาน และเลือกวิธีและเส้นทางที่จะเกิดทางไปเรียน/ทำงาน หรือในสังคมออนไลน์ บางคนอาจรับรู้ว่า พฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การกดไลค์ (like) การแชร์/ส่งต่อ/ตอบกลับ การรับเป็นเพื่อน ฯลฯ เป็นการตัดสินใจเลือกทำและไม่ทำบางสิ่ง แต่บางคนก็อาจไม่ได้รับรู้การได้เลือกทำสิ่งต่าง ๆ อย่างชัดเจน

 

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าคน 2 คน อาจอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและอาจมีพฤติกรรมเหมือน ๆ กัน แต่คน 2 คนนี้ ก็อาจ รับรู้ ว่า พวกเขามีโอกาสที่จะได้เลือกสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากันและมีจำนวนตัวเลือกไม่เท่ากันด้วย ในทางจิตวิทยา ความแตกต่างของ 2 คนนี้ อยู่ที่ “กรอบความคิดการเลือก” (choice mindset) ซึ่งก็คือ แนวโน้มที่บุคคลจะรับรู้และตีความสถานการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ภายใต้มุมมองของ การมีอยู่ของตัวเลือกและการได้เลือก ที่แตกต่างกัน (Madan et al., 2020) ในสถานการณ์ที่ (จริง ๆ แล้ว) มีตัวเลือกค่อนข้างน้อย บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกชัดเจนมักจะรับรู้และตีความการกระทำของตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ “มีอิสระที่จะตัดสินใจเลือก” ส่วนในสถานการณ์ที่ (จริง ๆ แล้ว) มีตัวเลือกค่อนข้างมาก บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกไม่ชัดเจนก็มักจะรับรู้และตีความการกระทำของตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ “ไม่มีอิสระที่จะตัดสินใจเลือก”

 

 

กรอบความคิดการเลือกอาจเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล (individual difference) ที่สะท้อนประสบการณ์ที่บุคคลสั่งสมมา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางจิตวิทยานำไปสู่ข้อสังเกต 2 ประการ คือ เราสามารถกระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกชัดเจนมากขึ้นได้ และบุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกแตกต่างกันจะส่งผลต่อกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจที่มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน

 

ประการแรก การทดลองทางจิตวิทยามักจะกระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกจาก

(i) การถามตรง ๆ ว่า “ที่ผ่านมา คุณได้ตัดสินใจอะไรไปบ้าง” (ลองเปรียบเทียบกับคำถามที่ว่า “ที่ผ่านมา คุณได้ทำอะไรไปบ้าง”)

(ii) ให้เลือกสิ่งต่าง ๆ ในกระบวนการทดลอง เช่น สีของปากกา ประเภทของนิตยสาร ฯลฯ หรือ

(iii) ให้สังเกตการกระทำของบุคคล (ในคลิปวีดีโอ) แล้วระบุการกระทำที่แสดงการตัดสินใจ (Savani et al., 2010; Savani et al., 2017)

เนื่องจากวิธีที่กระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกในการทดลองทางจิตวิทยาไม่ได้แตกต่างไปจากประสบการณ์ที่บุคคลสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันมากนัก นักจิตวิทยาจึงมีความเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ เรามีการดำเนินชีวิตประจำวันกับตัวเลือกที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ (เช่น สินค้าและบริการ กิจกรรม อาชีพ ฯลฯ) ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บุคคลจากสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอาจถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้ในลักษณะที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Savani และคณะ (2010) ศึกษากรอบความคิดการเลือกกับผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันและชาวอินเดีย ผลการศึกษาที่น่าสนใจ คือ โดยทั่วไป ผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้มากกว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอินเดีย ยกเว้นในกรณีที่เหตุการณ์เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal action) เช่น การซื้อของไปฝากบุคคลอื่น การให้คำแนะนำบุคคลอื่น ฯลฯ ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันและชาวอินเดียถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้พอ ๆ กัน

 

ประการที่สอง บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจนจะมีกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจที่แตกต่างจากบุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ไม่ชัดเจน ซึ่งนักจิตวิทยาบางคนมีความเห็นว่า ความแตกต่างนี้อาจส่งผลดีต่อบุคคล แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวมได้ (Madan et al., 2020)

 

การวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน (หรือถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน) มักจะ

 

(i) มองสิ่งต่าง ๆ อยู่ในลักษณะของ “ตัวเลือก”
(ii) พยายามมองหา ความต่าง ระหว่างสิ่งต่าง ๆ มากกกว่าที่จะมองหาความเหมือน
(iii) มีการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytic thinking) มากกว่าการคิดแบบองค์รวม (holistic thinking [Savani et al., 2017])
(iv) ให้น้ำหนักกับ “บุคคล” ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำมากกว่า “เงื่อนไขแวดล้อม” และ
(v) รู้สึกมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มข้างต้นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการวางนโยบายสาธารณะได้ กล่าวคือ หากคนส่วนใหญ่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน เรามีแนวโน้มที่จะ

 

(i) ผลักให้บุคคลรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาทำ เกินกว่า สิ่งที่พวกเขาควบคุมได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ “โทษเหยื่อ” (victim blaming) เมื่อสถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น
(ii) สนับสนุนแนวคิดที่ว่า สถานภาพของบุคคล เช่น คนที่มีน้ำหนักเกิน คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศ (sexual minority) เกิดขึ้นจาก “การเลือก” ของบุคคล ซึ่งอาจโอนเอียงต่อการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
(iii) ยอมรับความไม่เท่าเทียมกัน ที่สุดโต่ง เพราะมองว่า ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคล (เช่น รายได้ การได้รับการยอมรับ ฯลฯ) เกิดขึ้นจากการเลือกของบุคคล
(iv) มุ่งที่จะแสดงตัวตน (เช่น ความคิด ความเชื่อ ความชอบ การให้คุณค่า ฯลฯ) มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับผู้อื่น และ
(v) สนับสนุนนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นความมีอิสระของบุคคล แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางลบได้หากไม่มีการกำกับดูแลที่ดี

 

 

ข้อสรุปที่ชัดเจนในตอนนี้ คือ การเตรียมตัวเลือกให้บุคคลได้ตัดสินใจเลือก (เช่น การออกแบบนโยบายสาธารณะ การออกแบบโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฯลฯ) ด้วยความหวังที่ว่า บุคคลจะมีกระบวนการตัดสินใจที่ดี (เช่น บุคคลจะพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน บุคคลจะรู้สึกมีอิสระ ฯลฯ) อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ได้หวังไว้ หากบุคคลไม่มีกรอบความคิดการเลือกและไม่ได้รับรู้ว่า พฤติกรรมของตน คือ การเลือก และกรอบความคิดการเลือกเป็นเสมือน “ดาบสองคม” ที่อาจต้องกระตุ้นให้อยู่ในระดับที่พอดีและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

 

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจนมากขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ การส่งเสริมให้บุคคลตระหนักถึงอิทธิพลของเงื่อนไขแวดล้อมที่อาจจำกัดอิสระในการตัดสินใจของบุคคล และการส่งเสริมให้บุคคลมองหาความเหมือน (แทนที่จะมองหาความต่าง) และความเชื่อมโยง (แทนที่จะมองหาความโดดเด่น) ระหว่างสิ่งต่าง ๆ อาจเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นที่ดีที่จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรู้เท่าทันกรอบความคิดของตัวเอง

 

 

รายการอ้างอิง

 

Madan, S., Nanakdewa, K., Savani, K., & Markus, H. (2020). The paradoxical consequences of choice: Often good for the individual, perhaps less so for society? Current Directions in Psychological Science, 29, 80-85.

 

Savani, K., Markus, H., Naidu, N., Kumar, S., & Berlia, N. (2010). What counts as a choice? U.S. Americans are more likely than Indians to construe actions as choices. Psychological Science, 21, 391-398.

 

Savani, K., Stephens, N., & Markus, H. (2017). Choice as an engine of analytic thought. Journal of Experimental Psychology: General, 146, 1234-1246.

 

 


 

 

 

บทความโดย

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา

 

Share this content