Belief in a just world – ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม

09 Aug 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

 

ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม คือ ความต้องการของบุคคลที่จะเชื่อว่าโลกนี้มีกฎเกณฑ์ที่ผู้กระทำดีจะได้รับผลที่ดีเป็นรางวัล ส่วนผู้ที่กระทำไม่ดีจะได้รับผลที่ไม่ดีเป็นการลงโทษ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ย่อมมีความคู่ควรแก่คนคนนั้น

 

ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม คือแรงขับทางด้านความยุติธรรม ที่เป็นแรงจูงใจขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้น และผู้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อนี้อยู่ในใจ ในระดับและรูปแบบที่แตกต่างกันไป ความเชื่อนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพัฒนาการภายในของตัวบุคคล ประกอบไปด้วย ความต้องการที่จะเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม ประสบการณ์ตรงในชีวิต และการขัดเกลาทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มคนหัวก้าวหน้า (liberal) ที่ต้องการความรู้สึกว่าเท่าเทียมกันในสังคม

 

ในมุมมองของนักจิตวิทยาสังคม ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมถูกอธิบายว่าเป็นความลำเอียงทางปัญญา แต่ความเชื่อนี้เป็นกลไกสำคัญที่บุคคลใช้ในการรับมือกับความเครียด เสมือนภาพลวงตาทางบวกที่ช่วยให้บุคคลรู้สึกดีและนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี เพราะในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยการกีดกัน การกดขี่ และความไม่ยุติธรรมในสังคม การที่บุคคลพยายามจะหาคำอธิบายเพื่อรักษาความยุติธรรมไว้จะต้องลงแรงมาก บุคคลที่เชื่อว่าโลกยุติธรรมจึงใช้วิธีที่ง่ายกว่า โดยให้ความชอบธรรมกับเหตุการณ์ที่ไม่ยุติธรรมโดยละทิ้งความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น และตีความเหตุการณ์นั้นใหม่ ด้วยการมองว่าใครก็ตามที่ต้องประสบเคราะห์ร้ายหรือพบความไม่ยุติธรรมนั้นก็สมเหตุสมผลดีแล้ว

 

ดังนั้น ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจึงไม่ได้เป็นเรื่องความยุติธรรมโดยแท้จริง แต่เป็นลักษณะความเชื่อที่จัดว่าเป็นภาพลวงตาขั้นพื้นฐานที่บุคคลใช้แก้ต่างความไม่ยุติธรรม มากกว่าเป็นแรงจูงใจที่จะกระทำการอย่างยุติธรรมจริงๆ

 

 

ผลทางบวก


 

1. สุขภาวะ

ผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมสูงมีแนวโน้มจะครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ด้านลบน้อยกว่าเพราะความเชื่อนี้ทำให้บุคคลลดความสำคัญของสิ่งร้ายๆ ที่ตนต้องเผชิญลง ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจึงส่งผลให้บุคคลเป็นปกติสุขได้ เมื่อบุคคลมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกว่าทุกอย่างมีความหมายและสามารถคาดการณ์ได้ บุคคลจะมีทัศนคติทางบวกต่ออนาคต ซึ่งอาจทำให้เห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น ทำให้บุคคลแน่ใจว่าเขาจะได้รับสิ่งที่สมควรแก่ตนถ้าเขาปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม

 

2. การไปสู่เป้าหมายระยะยาว

บุคคลที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมย่อมหวังว่าการกระทำดีในปัจจุบันจะให้ผลที่ควรค่าในอนาคต การกระทำใดๆ ที่อาจได้ผลในระยะสั้นอาจไม่น่าพึงพอใจเท่ากับการอดทนรอผลที่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว นั่นคือบุคคลจะสร้างพันธะส่วนบุคคลเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่รอคอย (อดเปรี้ยวไว้กินหวาน)

 

3. พฤติกรรมทางบวก

จากการวิจัยพบว่า ผู้ที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมสูงจะสามารถยอมรับต่อเหตุการณ์ที่ไม่ยุติธรรมกับตนได้มากกว่า มีแนวโน้มจะช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อตนเองต้องการมากกว่า รับรู้ถึงความเอื้อเฟื้ออย่างจริงใจของผู้อื่นได้มากกว่า และมีคะแนนความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจะตอบสนองต่อผู้กระทำไม่ดีในทางสร้างสรรค์ (เช่น การเจรจา การให้อภัย) มากกว่าที่จะแก้แค้นหรือใช้ความรุนแรง และช่วยให้ผู้ถูกกระทำสามารถรับมือกับความทุกข์ด้วยวิธีต่างๆ

 

ผลทางลบ


 

1. การดูหมิ่นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

การศึกษาความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมกับผู้ตกเป็นเหยื่อรูปแบบต่างๆ พบสหสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมกับการโยนความผิดผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้ที่ต้องประสบกับเคราะห์ร้ายประเภทต่างๆ คือเมื่อบุคคลพบเหตุการณ์ที่ผู้ถูกกระทำตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมหรือความไม่สมเหตุสมผล บุคคลจะกล่าวหาว่าผู้เคราะห์ร้ายนั้นต้องเคยกระทำสิ่งที่ไม่ดีมาก่อนจึงต้องมารับผลเช่นนี้ เพื่อหาทางกู้ความรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ยังยุติธรรมดีอยู่ เป็นแรงจูงใจที่จะหาความยุติธรรมจากเหตุการณ์ในกรณีที่รู้สึกว่าไม่สามารถกระทำสิ่งใดๆ เป็นการชดเชยเหยื่อได้ การโยนความผิดนี้จะชัดเจนเมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นมากกว่าเกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นในระดับจิตก่อนสำนึก หรือเป็นกลไกที่เกิดขึ้นอัตโนมัติและเกี่ยวพับกับอารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้การดูหมิ่นเหยื่อของผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมสูงจะเกิดขึ้นน้อยลงหากบุคคลได้รับการเน้นย้ำถึงความบริสุทธิ์ของเหยื่อ หรือได้คำนึงถึงสถานการณ์แวดล้อมและบรรทัดฐานของสังคม

 

2. อคติและการกีดกันสถานภาพ

ความคิดที่ว่าผู้เคราะห์ร้ายสมควรได้รับผลเช่นนั้นแล้ว นำไปสู่การกีดกันและการกดขี่ เนื่องจากผู้ที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจะมองว่าทุกอย่างที่ทุกคนได้รับนั้นสมเหตุสมผลดีแล้ว จึงไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นคือมองว่าการที่มีใครต้องประสบเคราะห์น้อยหรือมีสถานภาพที่ด้อยกว่าในสังคม (เช่น ชนกลุ่มน้อย กลุ่มรักร่วมเพศ ผู้หญิง คนยากจน ฯลฯ) ไม่ใช่ปัญหา มองว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ถูกกีดกันแต่อย่างใด และไม่เกิดแรงจูงใจที่จะแก้ปัญหา

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม” โดย ไตรภพ จตุรพาณิชย์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45922

 

ขอบคุณภาพจาก Getty Images

และภาพการ์ตูนจาก @มิติคู่ขนาน
http://www.ookbeecomics.com/authors-and-artists/Phongmanus-Nus/detail-page/14571

 

 

Share this content