พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

21 May 2018

ผศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

ความเชื่อและค่านิยมของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม

 

 

ปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามมากขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาด ที่ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าวัยรุ่น เช่น ครีมทาผิวขาว ครีมรักษาสิว รอยแผลเป็น น้ำผักผลไม้ผสมคอลลาเจน อาหารเสริมลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

จากงานวิจัยในประเทศแคนาดาของ เบลล์ และคณะ เมื่อปี 2547 ได้ทำการสำรวจวัยรุ่นแคนาดาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่น ผลการวิจัยพบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้มีการบริโภคอาหารเสริม โดยวัยรุ่นเพศหญิงบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อความงามมากกว่าวัยรุ่นเพศชาย โดยเฉพาะสมุนไพรควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้กลุ่มผู้วิจัยตระหนักถึงแรงจูงใจในการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่นว่า อาจมาจากความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารเสริม เช่น เชื่อว่าช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายหรือช่วยให้มีรูปร่างที่ดีขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การบริโภคเกินความจำเป็นได้

 

สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเช่นกัน โดย ลักขณา อังอธิภัทร และคณะ ได้ศึกษาในปี พ.ศ. 2551 ถึงพฤติกรรมการบริโภค และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.2 บริโภคอาหารเสริมและยังคงบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนร้อยละ 20.3 นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้และการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในระดับต่ำ โดยเข้าใจและเชื่อตามโฆษณา ว่าสามารถช่วยรักษาโรค บำรุงร่างกาย ลดความอ้วน และเสริมความงามได้ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าหากผู้บริโภครับประทานแต่อาหารเสริมเพียงอย่างเดียว โดยมุ่งวัตถุประสงค์ตามการโฆษณา อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้

 

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรเข้ามาดูแลควบคุมการโฆษณา และทำการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเสริมความงาม ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

 

 

พฤติกรรมการลดน้ำหนักของวัยรุ่นและผลกระทบด้านลบจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก


 

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการลดความอ้วนของวัยรุ่นไทย ของ ศิวรักษ์ กิจชนะไพบูลย์ ที่ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่ผ่านมาในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง ปี พ.ศ. 2554) พบว่าวัยรุ่นไทยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ภายนอก ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเอง รับรู้ว่าตนเองอ้วน ในขณะที่เกณฑ์น้ำหนักอยู่ในระดับสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งค่านิยมเช่นนี้ส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนี้เกิดพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มีการใช้ยาลดน้ำหนัก การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการดื่มกาแฟลดน้ำหนัก

 

นอกจากนี้สื่อโฆษณาต่าง ๆ ในปัจจุบันเน้นการนำเสนอนางแบบที่รูปร่างหน้าตาภายนอก การมีหุ่นที่ผอมเพรียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งส่งผลตอกย้ำให้วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง เพียงเพื่อต้องการให้ตนมีรูปร่างผอมหุ่นดีเหมือนนางแบบในโฆษณา

 

การที่วัยรุ่นมีแนวโน้มลดน้ำหนักเพื่อให้รูปร่างตนเองผอมเพรียวเหมือนดาราในโฆษณา อาจนำไปสู่พฤติกรรมการลดน้ำหนักแบบผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เตือนมายังวัยรุ่นถึงการบริโภคอาหารเสริมว่า วัยรุ่นทั้งเพศชายและเพศหญิง บริโภคอาหารเสริมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ด แคปซูล ชงดื่ม หรือในรูปแบบของวิตามินต่างๆ เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการบริโภคอาหารเสริมเพียงอย่างเดียวนี้ ส่งผลทางลบอย่างมากต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย และมีภูมิต้านทานโรคต่ำได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการที่วัยรุ่นมีให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป อาจส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนั้น มีพฤติกรรรมการลดน้ำหนักที่ผิดวิธี และทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

 

 

พฤติกรรมเสี่ยงของการศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น


 

วัยรุ่นปัจจุบันมีต้นแบบความงามจากดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบ ซึ่งต้นแบบเหล่านี้มีหน้าตาที่สวยหล่อทั้งจากธรรมชาติ หรือจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม จากการสำรวจของสำนักเด็กดีโพล ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าเยาวชนไทยในปัจจุบัน มีค่านิยมในการทำศัลยกรรมเสริมความงามเพื่อให้ตนเองดูดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจ โดยมีดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบเป็นต้นแบบด้านความงาม

 

สำหรับวงการวิชาการมีนักวิจัยหลายท่านให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมของวัยรุ่น เช่น งานวิจัยของ Lunde (ลุนเด้) ศึกษาทัศนคติของวัยรุ่นชาวสวีเดนต่อการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มที่จะยอมรับการศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่า โดยวัยรุ่นหญิงที่อยากมีรูปร่างผอมบาง มักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นกลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้วัยรุ่นหญิงที่ชอบอ่านบล็อกความงามแฟชั่น ก็มีความสัมพันธ์กับการอยากมีรูปร่างที่ผอมบางมาก และมักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงาม นอกจากนี้ ผลการวิจัยวัยรุ่นอังกฤษของ Swami ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น

 

จะเห็นได้ว่าทั้งต้นแบบ ซึ่งเป็นดาราหรือศิลปินที่มีหน้าตาและรูปร่างที่วัยรุ่นชื่นชอบ รวมทั้งสื่อ ที่มีการนำเสนอต้นแบบกลุ่มนี้ ล้วนส่งอิทธิพลต่อวัยรุ่นในการเลียนแบบ เพื่อให้ตนเองมีรูปร่างหน้าตาที่ดีเหมือนต้นแบบ และนำไปสู่การทำศัลยกรรมเสริมความได้ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และดูแลพฤติกรรมสุขภาพความงามของวัยรุ่นให้หมาะสมและปลอดภัย

 

Markey และ Markey ได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจในการเข้ารับบริการทำศัลยกรรมเสริมความงาม กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 ผลการวิจัยพบว่าความสนใจในการเข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม มีความสัมพันธ์กับน้ำหนัก ความไม่พึงพอใจในรูปร่าง สื่อ และความน่าดึงดูดใจทางร่างกาย งานวิจัยสรุปว่าผู้หญิงที่ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตน มีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรม เช่นเดียวกับ งานวิจัยของ Farshidfar และคณะ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการยอมรับการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอิหร่าน อายุ18 ถึง 20 ปี มีการทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด โดยปัจจัยด้านภาพลักษณ์ทางร่างกายและการเห็นด้วยกับการทำศัลยกรรม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงาม

 

สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2552 สำนักเด็กดีโพล สำรวจค่านิยมการทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่นไทย จำนวน 5,074 คน พบว่า วัยรุ่นสนใจการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยกลุ่มนักศึกษา สนใจทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด นอกจากนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่รับรู้ว่า การทำศัลยกรรมความงามในปัจจุบันมีความปลอดภัย โดยพบว่าการเสริมจมูกเป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการทำหน้าใส กรีดตาสองชั้น การฉีดปากให้อวบอิ่มหรือผ่าตัดปากให้บาง การเสริมคาง การตัดกรามทำหน้าเรียว และการเสริมหน้าอก ทั้งนี้เหตุผลหลักที่ทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ตัดสินใจทำศัลยกรรม คือ ต้องการให้ตัวเองดูดี เพื่อผลประโยชน์ในหน้าที่การงาน และทำเพราะพ่อแม่สั่งให้ทำ

 

 

ปัญหาที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามไม่ถูกวิธีหรือเข้ารับบริการสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน


 

ปัจจุบันพบปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีส่วนผสมจากสารต้องห้าม เช่น สารปรอท สารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ เป็นต้น

 

ตัวอย่างผลกระทบด้านลบ เช่น เครื่องสําอางทาสิวหรือทำให้หน้าขาวที่ผสมสารปรอท ส่งผลให้เกิดการแพ้ มีผื่นแดง ผิวหน้าดำ เครื่องสำอางที่ผสมกรดวิตามินเอ ส่งผลให้เกิดอาการหน้าแดง ระคายเคือง อาการแสบร้อนรุนแรง ผิวหนังอักเสบ ผิวลอกอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

 

นอกจากนี้ ปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผิดวิธี นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมฉีดผิวให้ขาวด้วยสารกลูต้าไธโอน โดยฉีดเป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อเร่งให้ได้ผิวขาวเร็วขึ้น โดยการฉีดอย่างต่อเนื่องและเกินขนาด 2-3 เท่าตัว ทำให้เม็ดสีผิวลดลง ภูมิต้านทานของผิวลดลง เกิดอาการระคายเคือง แพ้แสงแดดได้ง่าย เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง และอาจส่งผลกระทบให้จอประสาทตาอักเสบ จนอาจนำไปสู่การตาบอดได้

 

เช่นเดียวกันสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบพบว่า สถานเสริมความงามหลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน มีการนำยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือยาปลอมมาใช้ เช่น คอลลาเจน โบท็อกซ์ กลูตาไธโอน วิตามินซี รกแกะ นอกจากนี้ยังนำเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดกับอย.มาให้บริการ ซึ่งการเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่ขาดมาตรฐาน อาจทำให้วัยรุ่นตกเป็นเหยื่อและได้รับอันตรายจากเข้ารับบริการเพิ่อเสริมความงามได้

 

ดังนั้น การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามหรือการทำศัลยกรรรมเสริมความงามกับกลุ่มวัยรุ่น ก็จะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภคได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

Share this content