Anonymity – ภาวะนิรนาม

22 May 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

ความนิรนาม คือ การไม่มีตัวตน การไม่สามารถระบุตัวตนได้

 

ความนิรนามเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนขาดความรู้ตนเอง ทำให้ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์รอบตัวอย่างมีสติ ความคิดและความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างซึ่งในเวลาปกติจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนั้น พฤติกรรมเหล่านี้ถูกแสดงออกตามสิ่งเร้าในสถานการณ์อย่างไม่มีการไตร่ตรอง ความรุนแรงของพฤติกรรมจึงมีมากกว่าปกติ

 

ความนิรนามเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลดความเป็นตัวตน (deindividuation) คือการที่บุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ความเด่นชัดของตัวบุคคลลดลง เช่น อยู่ในแสงสลัว อยู่ในฝูงชน ใส่หน้ากาก หรือใช้สีทาหน้าตา สภาพการณ์เหล่านี้มักโน้มนำบุคคลให้ทำพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากพฤติกรรมปกติ ซึ่งจะเป็นไปในทางบวกหรือลบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะโน้มนำไปในทางใด

 

กล่าวได้ว่า บุคคลมักกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวตนจริงไม่กล้าทำเมื่ออยู่ภายใต้ภาวะนิรนาม

 

 

Burkell (2006) ได้แบ่งความนิรนามออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  • ความนิรนามจากการระบุตัว (Identity Protection) คือ การไม่ระบุชื่อ
  • ความนิรนามจากการสังเกตเห็น (Visual Anonymity) คือ การมองไม่เห็นจากอีกฝ่าย
  • ความนิรนามจากพฤติกรรมที่ตนกระทำ (Action Anonymity) คือ การกระทำไม่สามารถรับรู้ถึงผู้กระทำได้

 

การศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ความนิรนามและคุณภาพของความคิดเห็นในเว็บออนไลน์ (Omernick & Sood, 2013) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ใช้ 3 กลุ่ม คือ ผู้ใช้ระบุตัวตน ผู้ใช้ระบุนามปากกา และผู้ใช้ไม่ระบุตัวตน พบว่า ผู้ใช้ระบุตัวตน แสดงความคิดเห็นตรงกับหัวข้อเรื่องมากกว่า มีคำด่าทอและแสดงอารมณ์โกรธน้อยกว่า แสดงความคิดเห็นด้วยความรู้สึกทางบวกมากกว่า แต่ถ้านับจำนวนการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ ผู้ใช้ไม่ระบุตัวตนมีการแสดงความคิดเห็นมากกว่า

 

ส่วนการศึกษาการรับรู้ความนิรนามในบริบทการทำงาน (Hackman & Kaplan, 1974) พบว่า การทำงานด้วยความนิรนามมีประโยชน์ในแง่การเพิ่มผลิตผลการทำงาน การสร้างความพึงพอใจในกลุ่มผู้ที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างนิรนาม เนื่องจากช่วยลดความหวั่นในการประเมิน ลดความมีอำนาจ และสถานะแข่งขัน นำไปสู่การมีทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น แต่มีข้อเสียในแง่ การอู้งาน การลดการรับฟังผู้อื่น การลดความเป็นตัวตน และการเข้าสังคมที่ไม่ดี ซึ่งลดประสิทธิภาพของกลุ่มและนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในการทำงาน

 

นอกจากนี้ การศึกษาอื่น ๆ พบประโยชน์ของความนิรนาม ได้แก่ ทำให้บุคคลสนใจในเนื้อหาที่พูดมากกว่าตัวบุคคล ความนิรนามทำให้เกิดความอิสระในการพูดในหัวข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหว ทำให้คนกลุ่มน้อยที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของตน นำไปสู่การมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น มีความคิดเห็นที่หลากหลายมากกว่า ลดความสนใจไปยังตัวบุคคลและลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล ความนิรนามยังมีประโยชน์ต่อความเป็นส่วนตัว ทำให้บุคคลสามารถควบคุมปริมาณหรือขอบเขตที่ผู้อื่นจะเข้าถึงตัวบุคคลได้ ซึ่งส่งผลทางบวกต่อสุขภาวะทางจิต

 

อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าความนิรนามทำให้บุคคลลดความตระหนักรู้ในตน และเอื้อให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ยิ่งในสื่อออนไลน์ที่เป็นพื้นที่เปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การข่มเหงรังแกทางไซเบอร์ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ความนิรนามส่งผลต่อการลดความวิตกกังวลในการข่มเหงรังแกผู้อื่น เพิ่มการรับรู้อำนาจ และลดความรับผิดชอบในตนเอง เนื่องจากตนไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการกระทำของตนเอง บุคคลรับรู้ว่าตนสามารถทำอะไรก็ได้และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ในมุมของผู้ถูกกระทำ การถูกรังแกโดยบุคคลนิรนามสร้างผลประทบทางลบให้กับเหยื่อมากกว่า เพราะเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย เกิดความหวั่นวิตก รับรู้อำนาจที่ด้อยกว่า และไม่รู้ถึงวิธีการจัดการกับปัญหา

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 


 

เรียบเรียงโดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content