Psychological well-being – สุขภาวะทางจิต

02 May 2016

คำศัพท์จิตวิทยา

 

สุขภาวะทางจิต หมายถึง สภาวะทางจิตใจของบุคคลอันเป็นภาวะทางจิตที่ดี มีความสุข มีความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการที่บุคคลมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถจัดการกับความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องกับความต้องการและการสำเร็จตามเป้าหมาย มีมุมมองสภาพแวดล้อม สถานการณ์ และประสบการณ์ในแง่ที่ดี

 

 

มีนักจิตวิทยาหลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิต และได้แบ่งองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตไว้แตกต่างกัน เช่น

 

Ryff (1989, 1995) ได้พัฒนาทฤษฎีในการวัดสุขภาวะทางจิตใน 6 มิติ ซึ่งรวมถึงสุขภาพทางจิตในทางคลินิค ทฤษฎีพัฒนาการชีวิต และทฤษฎีทางจิตวิทยา สังเคราะห์อออกมาได้ดังนี้

  1. การยอมรับในตนเอง – การพึงพอใจในตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อตัวเองทั้งในอดีตและปัจจุบัน มองตัวเองในทางบวก สามารถยอมรับกับตัวเองทั้งในด้านดีและด้านที่ไม่ดี
  2. การมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น – การมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับบุคคลอื่น เข้าใจลักษณะการให้และรับในสัมพันธภาพของมนุษย์ มีความรักและมีมิตรภาพที่ดีแก่ผู้อื่น
  3. ความเป็นตัวของตัวเอง – ความสามารถในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ สามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับตนเองได้ ฝืนแรงกดดันทางสังคมในเรื่องการคิดหรือการกระทำได้ และประเมินตนเองตามมาตรฐานของตนเอง
  4. ความสามารถในการจัดการสภาพแวดล้อม – ความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองได้ สามารถใช้โอกาสรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การมีเป้าหมายในชีวิต – การมีเป้าหมายในชีวิตและมีความมุ่งมั่นที่จะไปถึงเป้าหมาย รู้สึกถึงความหมายของชีวิตในปัจจุบันและชีวิตที่ผ่านมาในอดีต
  6. การมีความงอกงามในตน – ความรู้สึกว่าตนเติบโตและมีการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ตระหนักรู้ถึงศักยภาพของตนเอง และมองเห็นโอกาสแห่งการปรับปรุงพฤติกรรมของตนตลอดเวลา

 

ส่วน Dupuy (1997) ได้ระบุองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตไว้ 6 ด้าน ดังนี้

  1. ความวิตกกังวล – การไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีอาการเครียด กลัว กระวนกระวายใจ และวิตกกังวล
  2. ภาวะซึมเศร้า – ความผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งอาจแสดงออกทางกายด้วยเช่น การเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
  3. สุขภาวะทางบวก – ความรู้สึกทางบวก จากความพึงพอใจในชีวิตหรือการรับรู้ความสุขในการดำเนินชีวิต
  4. การควบคุมตัวเอง – ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนได้ เพื่อเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. ความมีชีวิตชีวา – ความรู้สึกสดชื่น เบิกบานใจ มีพลังในการทำสิ่งต่างๆ
  6. ภาวะสุขภาพทั่วไป – ภาวะความเจ็บป่วยของร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อสิตใจทำให้ไม่มีความสุข

การมีสุขภาวะทางจิตที่ดีของ Dupuy จึงหมายถึงการที่มีความพึงพอใจในชีวิต สามารถควบคุมตนเองได้ เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีความกังวลหรือความซึมเศร้าน้อย

 

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางจิต


 

แบ่งเป็นปัจจัยภายในตัวบุคคลและภายนอกตัวบุคคล ดังนี้

 

  • ปัจจัยภายในตัวบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานกาพสมรส โดยการศึกษาวิจัยหลายงานพบว่า เพศหญิงมักมีสุขภาวะทางจิตต่ำกว่าเพศชาย เนื่องจากมีระดับซึมเศร้าสูงกว่า นอกจากนี้วัยผู้ใหญ่ตอนปลายเป็นวัยที่มีสุขภาวะทางจิตสูงที่สุด เนื่องจากได้ผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้การเผชิญปัญหามากกว่าบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า
  • ปัจจัยภายนอกบุคคล ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ครอบครัว การสนับสนุนทางอารมณ์ สภาพสังคม วัฒนธรรม การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ที่ทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสุข

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ จิตอาสา และสุขภาวะทางจิตในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต” – แพรวดาว พงศาจารุ, เรวดี พจนบรรพต, นิธิพัฒน์ กุศลสร้าง (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47188

 

“ประสบการณ์การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จของผู้สูงอายุไทยที่มีสุขภาวะทางจิตสูง : การวิจัยเชิงคุณภาพแบบทีมผู้วิจัยเห็นชอบร่วมกัน” โดย พิศุทธิภา เมธีกุล (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21757

Share this content