บุคลิกภาพกับสุขภาพ

31 Mar 2020

รศ. ดร.ชุมพร ยงกิตติกุล

 

เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า บุคลิกภาพ เจตคติ แนวทางการดำรงชีวิต มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของบุคคล

 

คำถามที่ว่า

  • ความเครียดทำให้คนเจ็บป่วยจริงหรือ?
  • คนมีความสุขมีความรัก เจ็บป่วยน้อยกว่าคนที่ไม่มีจริงหรือไม่?
  • ความคิดเชิงบวกช่วยในการรักษาโรคจริงหรือ?

 

คำถามเหล่านี้ นักจิตวิทยาได้เสนอหลักฐานจากการค้นคว้าวิจัยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับสุขภาพ และได้คำตอบชัดเจนในหลายประเด็น ภาวะทางจิตใจซึ่งเป็นผลมาจากบุคลิกภาพ มีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ นับตั้งแต่การเป็นโรคหัวใจไปจนถึงโรคหวัด ล้วนมีความสัมพันธ์กับภาวะทางจิตใจทั้งสิ้น

 

สุขภาพของคนขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การทำกิจกรรมประจำวันทั้งกิจกรรมที่เป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องการงาน เรารวมเรียกว่าแนวทางดำเนินชีวิต ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสุขภาพของคนทั้งสิ้น ซึ่งการเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตแบบใดนั้นย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละคนเป็นแกนหลัก นักจิตวิทยาสนใจศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบว่า บุคลิกภาพกับสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกันมากน้อยเพียงใด

 

เราทราบกันดีว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยเน้นการรักษาคนมากกว่ารักษาโรค แพทย์พูดกับคนไข้มากขึ้น เน้นการวิเคราะห์แบบองค์รวม ใส่ใจสุขภาพแบบรอบด้าน ครอบคลุมการดำเนินชีวิตและภาวะจิตใจ ดังพุทธวจนะที่ว่า “จิตใจคือทุกสิ่งทุกอย่าง คิดอะไรก็ได้อย่างนั้น”

 

โดยข้อสรุปจากการวิจัยที่ทำต่อเนื่องกันมาหลายปีของนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อโรเบิรต์ โคลนิงเกอร์ อธิบายว่าบุคลิกภาพแบบที่เรียกว่า “ชอบแสวงหาความตื่นเต้น” มีผลต่อสุขภาพ คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มาก จะชอบทำอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจ ไม่ชอบความจำเจ ชอบทำสิ่งที่เสี่ยงภัย เช่นการขับรถเร็วหวือหวา การใช้ยาเสพติด ชอบกีฬาที่เสี่ยงภัย เช่น ปีนเขา กระโดดร่ม สำหรับคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้อยู่ไม่มากนัก จะเป็นคนที่ชอบทำงานที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันอยู่ทุกวัน คบเพื่อนกลุ่มเดิม ๆ มีกิจกรรมประจำวันเหมือน ๆ เดิมเกือบทุกวัน วิถีชีวิตของบุคคลซึ่งถูกกำหนดด้วยบุคลิกภาพแบบใดก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดโรคต่างกัน ดังนั้น เราพอจะบอกได้ว่าลักษณะบุคลิกภาพเฉพาะแบบใดที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคได้ เพราะบุคลิกภาพเป็นตัวกำหนดวิธีการที่บุคคลจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นกับตน

 

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงความเครียด ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกาย ส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อคนเราเกิดความเครียดร่างกายจะขับถ่ายฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “คอร์ติโซล” (cortisol) ออกมา ถ้าฮอร์โมนนี้อยู่ในร่างกายนานเกินไป จะไปกระตุ้นให้มีไขมันสะสมบริเวณผนังด้านในของหลอดเลือดซึ่งจะสะสมมากขึ้นทุกที นำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

 

บุคลิกภาพของคนเรามีความซับซ้อนหลายแง่มุม เป็นคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละคนที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกันด้านรูปแบบพฤติกรรม ปฏิกิริยาที่มีต่อผู้อื่นและต่อสถานการณ์รอบข้าง ศาสตราจารย์ ดร.ฮันส์ ไอเซนต์ นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ได้ใช้เวลาหลายสิบปีศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบบแผนบุคลิกภาพของบุคคล ได้เสนอบุคลิกภาพแบบสามมิติไว้คือ เปิดเผยหรือปิดตัว เจ้าอารมณ์หรือมั่นคง เข้มแข็งหรืออ่อนโยน

 

เปิดเผย VS ปิดตัว คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผย มีลักษณะเด่นคือ ชอบเข้าสังคม ชอบใช้ชีวิตนอกบ้าน มีความกระตือรือร้น มีพฤติกรรมชอบเสี่ยง หุนหันพลันแล่น ขาดความรอบคอบ และมีความรับผิดชอบน้อย คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าจะพักผ่อนน้อย ดื่มเหล้ามากเกินควรโดยเฉพาะในงานสังสรรค์ ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพของตน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดำเนินชีวิตให้สมดุลมีระเบียบในชีวิตมากขึ้น คนที่มีบุคลิกภาพแบบปิดตัว จะเป็นคนที่มีความสนใจแน่วแน่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ระมัดระวัง รอบคอบ ขยันหมั่นเพียร เชื่อถือได้ รักพวกพ้องของตน ขี้อาย มีทักษะทางด้านสังคมน้อยกว่าคนเปิดเผย คนกลุ่มนี้ถ้าเพิ่มทักษะการเข้าสังคมจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น จิตใจเบิกบานขึ้น รู้จักการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตนมากขึ้น และติดต่อสังสรรค์กับเพื่อนสนิทมากขึ้น ซึ่งการมีพฤติกรรมดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตนให้เข้มแข็งกว่าเดิมได้

 

เจ้าอารมณ์ VS อารมณ์มั่นคง คนเจ้าอารมณ์ มีแนวโน้มจะเป็นคนช่างกังวล ระแวง ขลาดกลัว ขาดความมั่นใจตนเอง ซึมเศร้าง่าย คิดวกวน ไม่เป็นตัวของตัวเองและชอบโทษตนเอง ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจได้ง่าย คนอารมณ์มั่นคง มีอารมณ์หนักแน่นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ไม่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อสิ่งที่มารบกวนใจ คนทั่วไปมักมองว่าคนกลุ่มนี้มีความสันโดษและไว้ใจได้ โดยการเปรียบเทียบสุขภาพจะดีกว่าคนเจ้าอารมณ์ อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ควรใส่ใจกับคนอื่นรอบข้างและทำใจรับความแตกต่าง

 

คนเข้มแข็ง VS คนอ่อนโยน คนเข้มแข็งมักมีความเป็นผู้นำและทำงานสำเร็จได้ด้วยดี แต่มักจะเป็นคนก้าวร้าว รักษาประโยชน์ของตน ฟันฝ่าอุปสรรค ทะเยอทะยาน ดื้อดึง ชอบโต้แย้ง ดังนั้น คนกลุ่มนี้ควรรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการความโกรธของตน การควบคุมพฤติกรรมชอบเสี่ยงและรับฟังคนอื่นด้วย คนอ่อนโยน เป็นคนใจดี ชอบดูแลและบริการผู้อื่น มีความพิถีพิถันและเข้าใจผู้อื่น บางครั้งจะถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ มักถูกคนเอาเปรียบ ถ้าอ่อนโยนเกินไป อาจซึมเศร้าได้ง่ายเมื่อผิดหวังในชีวิต คนกลุ่มนี้ควรคิดถึงตนให้มากขึ้น ไม่ควรเอาใจคนอื่นมากเกินไป จะทำให้เสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต

 

แบบแผนหรือบุคลิกภาพแต่ละแบบมีแนวโน้มว่าส่งผลบางประการต่อสุขภาพของเรา เพราะเป็นตัวกำหนดแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งคนส่วนมากมักมีบุคลิกภาพหลายแบบผสมผสานกัน และถึงแม้ว่าการเปลี่ยนบุคลิกภาพของตนเองจะเป็นเรื่องยาก แต่มีหลายวิธีการที่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของเราได้

 

จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพเป็นตัวกำหนดแนวทางดำเนินชีวิตของคน จึงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องบุคลิกภาพกับสุขภาพ แต่เราก็ยังไม่สามารถสรุปผลได้แน่ชัดว่าบุคลิกภาพแบบใดมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดโรคใดโดยจำเพาะ การเน้นอิทธิพลของบุคลิกภาพที่มีต่อโรคมากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้ เช่น รู้สึกว่าตนเองถูกตำหนิ เป็นต้น

 

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุมพร ยงกิตติกุล

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content