Need for cognition – ความต้องการทางปัญญา

25 Mar 2016

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

ความต้องการทางปัญญา หมายถึง แนวโน้มที่บุคคลจะชอบและทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด ต้องการที่จะจัดระบบและบูรณาการสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันอย่างมีโครงการและมีความหมาย ต้องการที่จะเข้าใจและหาเหตุผลให้กับปรากฏการณืที่ได้ประสบ โดยเมื่อบุคคลเผชิญสถานการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ จะทำให้เกิดความตึงเครียด และความเครียดนี้เองจะจูงใจให้บุคคลหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจัดโครงสร้างความรู้และทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูง (High need for cognition) คือ ผู้ที่มีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะสืบค้น แสวงหา คิด และตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับเพื่อหาเหตุผลที่จะอธิบายสิ่งเร้า ความสัมพันธ์ และเหตุการณ์ในโลก จึงมักชื่นชอบสิ่งเร้าหรืองานที่ต้องอาศัยการคิดหาเหตุผลหรือคิดแก้ปัญหา เช่น การอ่านหนังสือ การสอบรวบยอด

 

ขณะที่ ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำ (Low need for cognition) มักพึ่งพาสิ่งชี้แนะภายนอก เช่น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีชื่อเสียง สิ่งชี้แนะอย่างง่าย หรือการเปรียบเทียบทางสังคมในการอธิบายเหตุผลหรือจัดโครงการประสบการณ์ที่ได้รับ จึงมักชื่นชอบสิ่งเร้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางปัญญา

 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำมักจะถูกอิทธิพลจากสิ่งชี้แนะอย่างง่ายหรือทางสายเปลือก เช่น แหล่งที่มีความเชี่ยวชาญ ดึงดูดใจ หรือน่าไว้วางใจ ได้ง่ายกว่าผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูงที่จะตัดสินสิ่งต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเนื้อหาสารและคุณภาพของข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นการทางสายแกนที่ต้องอาศัยการคิดอย่างเป็นระบบ ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำจะไม่คิดพิจารณาสารเพิ่มจนกว่าจะมีแรงจูงใจอื่นๆ มากระตุ้นให้คิด เช่น เมื่อเรื่องนั้นมีความเกี่ยวข้องกับตน และเมื่อได้รับข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวัง

 

ความแตกต่างของบุคคลที่จะมีความต้องการทางปัญญาสูงหรือต่ำนั้น เกิดจากผลของการได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ได้กระทำซ้ำ ๆ และสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานจนหล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล

 

 

ความต้องการทางปัญญากับบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ (Big 5)

 

ความต้องการทางปัญญาเป็นตัวแปรทางบุคลิกภาพที่สะท้อนแนวโน้มที่จะทำและรู้สึกสนุกกับการใช้ความพยายามในกิจกรรมทางความคิด เมื่อนำโครงสร้างบุคลิกภาพความต้องการทางปัญญามาเปรียบเทียบกับบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ พบว่า มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยความต้องการทางปัญญาเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพการเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) ในเรื่องการมีเหตุผล มีปัญญาในการคิดได้อย่างซับซ้อน มีความคิดสร้างสรรค์และเปิดกว้างต่อสิ่งต่างๆ และเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพการมีจิตสำนึก (Conscientiousness) ในเรื่องการต้องการความสำเร็จ จริงจังกับทุกเรื่อง

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของกลุ่มที่มีองค์ประกอบความเป็นกลุ่มน้อยที่สุดต่อความลำเอียง ระหว่างกลุ่มที่วัดโดยตรงและโดยนัยและการประเมินคุณภาพผลงาน ของสมาชิกกลุ่มตนและกลุ่มอื่นในผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูงและต่ำ” โดย ทิพย์นภา หวนสุริยา (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/65

 

“อิทธิพลของความต้องการทางปัญญา คุณภาพของสาร และความดึงดูดใจของภาพประกอบ ที่มีต่อเจตคติต่อชิ้นงานโฆษณาประชาสัมพันธ์และองค์การผู้โฆษณา” โดย ธีรินทร์ เฉลิมนนท์ (2543) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/3277

 

Share this content