Moral grandstanding : การอวดอ้างตนว่าเป็นผู้มีจริยธรรม

08 Sep 2020

Dr. Harry Manley

การที่คนเราจะเข้าร่วมการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในสังคมนั้น แต่ละคนมักจะมีแรงจูงใจและมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น

 

การที่ ‘เจน’ รณรงค์ในสื่อโซเชียลเรื่องการทำลายธรรมชาติจากการใช้หลอดพลาสติก โดยเจนบอกว่า ผู้คนควรละอายที่ใช้หลอดพลาสติกเพราะมันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเจนยังแสดงจุดยืนที่จะบอยคอตต์ร้านค้าที่บริการหลอดพลาสติกให้แก่ลูกค้า

 

แรงจูงใจใดกันที่ทำให้เจนออกมาพูดเรื่องนี้?

 

เธออาจมีแรงจูงใจจากความเชื่อที่เธอหวังว่า การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เธออาจถูกจูงใจให้แสดงความเชื่อทางจริยธรรมของเธอมากขึ้นด้วยท่าทีต่าง ๆ ของผู้คน ซึ่งเธอเชื่อว่าผู้คนจะชื่นชมในคุณธรรมจริยธรรมของเธอ ทั้งนี้ การเข้าร่วมถกเถียงในประเด็นทางจริยธรรมที่แฝงไปด้วยความปรารถนาที่จะได้รับการจดจำและได้มีตัวตน เราเรียกว่า Moral grandstanding (การอวดอ้างตนว่าเป็นผู้มีจริยธรรม)

 

 

 

Moral grandstanding ค่อนข้างจะไม่เป็นประโยชน์และยังเป็นผลเสียต่อการถกเถียงประเด็นศีลธรรมต่าง ๆ ในสังคม

 

1. Moral grandstanding ทำให้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงเพื่อที่จะยืนหยัดว่าตนเองนั้นเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งที่สุด ยกตัวอย่างจาก บทความจากนิตยสาร New York Times เมื่อไม่นานมานี้ ที่เป็นประเด็นถกเถียงอยู่ใน Social media เกี่ยวกับการใช้ภาษาของผู้เขียนเรื่องผลไม้ไทยในการอธิบายลักษณะผล รสชาติ กลิ่น ความยากลำบากในการปอก ฯลฯ ที่ทำให้ชาวเน็ตต่างชาติที่หลงไหลในผลไม้ไทยไม่ค่อยพอใจ ให้ลองนึกภาพตามว่า สำหรับคนทั่วไปที่อ่านข่าวนี้แล้วรู้สึกว่า ไม่พอใจ ก็อาจจะได้แค่คิดแล้วก็พิมพ์ใส่ Social media เล็กน้อยว่า “ทำไมเขียนได้แย่อย่างนี้” หรือ “ถ้าใจแคบกับผลไม้และวัฒนธรรมของไทยจะเขียนไปทำไม” เพื่อแสดงศีลธรรม หรือความคิดเห็นของตนเอง หลังจากโพสแล้วก็จะพบกับผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีความคิดเห็นตรงกัน หรือรุนแรงกว่าเช่น กล่าวหาว่าคนเขียนเป็นพวกเหยียดชาติพันธุ์ (racist) หรือตำหนิทางสำนักพิมพ์ว่าทำไมถึงปล่อยให้บทความนี้ตีพิมพ์ออกมาได้ แต่ถ้าเกิดมีคนที่ต้องการเป็นที่จดจำในสังคมเกี่ยวกับความเคารพบูชาศีลธรรมอันสูงส่ง ความคิดเห็นเช่น “พวกเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้..” ก็จะไม่ตอบสนองความพึงพอใจทางศีลธรรมของพวกเขา พวกเขาจึงต้องปรับลักษณะแสดงความคิดเห็นไปในทางที่สุดโต่ง คุกคาม และดุดัน มากกว่าคนทั่วไป ใช้ศีลธรรมเป็นอาวุธกราดยิงสร้างความเสียหายโดยไม่สนสิ่งใด

 

2. เมื่อบุคคลพยายามหาทางที่จะสร้างความสูงส่งทางศีลธรรมหรือความบริสุทธิ์ผุดผ่องเหนือผู้อื่นให้ตนเอง เขาอาจใช้วิธีแสดงความไม่พึงพอใจ กับเรื่องที่ไม่ได้มีอะไรเหมาะสมให้วิจารณ์ สำหรับ moral grandstander การแสดงความไม่พึงพอใจในประเด็นที่คนอื่นไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาของสังคม จะสะท้อนถึงการมีศีลธรรมอันสูงส่งและมีวิสัยทัศน์ทางศีลธรรมมากกว่าผู้อื่น (Superior moral sensitivity)

 

3. ลองนึกถึงการที่บุคคลกระทำความผิดหรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมใด ๆ ในพื้นที่สาธารณะอย่างสื่อออนไลน์ แล้วถูกกล่าวโทษหรือใช้ถ้อยคำทำให้อับอายหรือละอายใจ ประมาณ 10 หรือ 100 คอมเมนต์ ก็จะมีผู้คนส่วนหนึ่งที่มักจะแสดงความคิดเห็นในเชิงตั้งศาลเตี้ยมาตัดสินและกดดันให้มีการลงโทษผู้ที่กระทำผิด หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงเห็นด้วยกับความเห็นของคนอื่นที่มีลักษณะต้องให้เกิดการลงโทษเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายกัน ให้กลายเป็นคนหมู่มากที่ยืนอยู่ฝั่งของความถูกต้องของการโต้แย้งทางศีลธรรมนี้ และช่วยกันแบ่งปันมุมมองทางศีลธรรมภายในกลุ่มเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของกลุ่มตนเอง อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าคนที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารการกระทำผิดศีลธรรมของผู้อื่นจะเป็นเพราะความเห็นแก่ตัวไปหมดทุกคน อย่างในประเทศไทย พฤติรรมของผู้คนจะได้รับอิทธิพลจากบรรทัดฐาน (Norm) ของสังคมค่อนข้างมาก การส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ หรืออับอาย ก็เหมือนเป็นกระบวนการสำคัญหนึ่งในการลดพฤติกรรมการละเมิดบรรทัดฐานทางสังคมของคนในสังคม

 

สรุปก็คือ Moral grandstanding จะกระตุ้นให้การวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปอย่างสุดโต่ง และมีแนวโน้มทำให้การแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ขาดมุมมองที่หลากหลายและรอบด้าน หรือหากเกินเลยกว่านั้นก็จะเริ่มดูถูกถากถางความคิดเห็นของผู้อื่นที่ขัดแย้ง หรือไม่เห็นด้วยกับตนเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง ผู้คนก็จะเริ่มรู้สึกได้ว่าคนเหล่านั้นพยายามวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้อื่นเพื่อให้มีพื้นที่ในสังคม แสร้งทำเป็นมีคุณธรรมศีลธรรมสูงส่ง แต่ตนเองกลับไม่ได้ปฏิบัติตามคุณธรรมที่ตัวเองกล่าวอ้าง จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมมองว่า การโต้เถียงเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม เป็นกิจกรรมของคนเสแสร้ง หรือไม่ค่อยจริงใจ

 

 

แม้ moral grandstanding จะสร้างผลเสียกับวงสนทนาโต้แย้งโดยทั่วไป แต่เราก็ยังไม่ค่อยรู้ว่า Moral grandstanding จะส่งทางบวกหรือทางลบผลต่อผู้ร่วมโต้แย้งหรือบุคคลอื่น ๆ มากน้อยอย่างไร Moral grandstander จะได้รับประโยชน์อะไรจากการกระทำของเขา หรือว่าความพยายามจะมีศีลธรรมสูงส่งของเขาจะกลับมาทำร้ายตัวเองได้อย่างไรบ้างหรือไม่ ยังไม่มีงานวิจัยใดตอบคำถามนี้อย่างชัดเจน แต่เมื่ออยู่ในวงสนทนาโต้แย้งเกี่ยวกับศีลธรรมเราก็จะพยายามประเมินว่าเราแยกแยะ Moral grandstander ได้จากปัจจัยใดบ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลายปัจจัยที่น่าจะช่วยให้เราประเมินได้ เช่น ในกรณีที่เราสามารถยืนยันตัวตนบุคคลนั้น (อาจจะเป็นคนรู้จัก หรือคนมีชื่อเสียง) หากเขาได้แสดงทัศนะใด ๆ เกี่ยวกับศีลธรรม แล้วเขามีการกระทำที่สอดคล้องกับศีลธรรมทีเขากล่าวอ้างเป็นประจำ เราก็ควรจะเคารพการแสดงทัศนะของเขาได้ สรุปก็คือ ความสอดคล้องของคำกล่าว และพฤติกรรมของผู้กล่าว เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการแยกแยะได้ว่าเป็นความคิดเห็นที่จริงใจ หรือว่าแสดงความคิดเห็นเพื่อหวังผลประโยชน์อื่น ในทางกลับกันในโลกออนไลน์ก็มักจะมีคนที่ไม่ยืนยันตัวตนหรือตรวจสอบไม่ได้ หรือมีประวัติที่ไม่น่าเชื่อถือ เมื่อไม่มีสิ่งที่สามารถยืนยันตัวตนที่ดี เราก็มักจะตัดสินจากอะไรที่มองเห็นได้ เช่น รูปโปรไฟล์ ชื่อ หรืออาจมีการดูความคิดเห็นเก่า ๆ เพื่อดูความสอดคล้องกับความเห็นปัจจุบัน แต่ถึงจะยืนยันตัวตนได้หรือไม่ได้อย่างไร เรายังมักจะเห็นดีเห็นงามกับ moral grandstanding ในกรณีที่เขาโต้แย้งสนับสนุนข้างที่เราเห็นด้วยอยู่บ่อย ๆ เช่นในปี 2019 ที่มีความเห็นค่อนข้างรุนแรงเกี่ยวกับ Begpackers หรือชาวต่างชาติที่มาเรี่ยไรขอเงินเพื่อท่องเที่ยวที่พบเห็นได้มากขึ้นในปีที่ผ่านมา ก็จะมีทั้งผู้คนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรง ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีค่านิยมสอดคล้องกับกลุ่มไหน จำเป็นไหมที่เราจะต้องเข้าร่วมประณามกับเขา หรือคนไทยเราประณามกันรุนแรงเกินเหตุไปรึเปล่า

 

มีงานวิจัยพบว่าการ Moral grandstanding มักจะมีจุดประสงค์เพื่อสร้างชื่อเสียงยกย่องตนเอง และสร้างอำนาจเพื่อครอบงำผู้อื่น ซึ่งทั้งสองจุดประสงค์นั้นทำให้เกิดชนชั้นในสังคม แต่จะมีวิธีการและรูปแบบที่แตกต่างกันอยู่ บุคคลที่ต้องการสร้างชื่อเสียงและได้รับการเคารพยกย่องในฐานะของผู้มีศีลธรรมอันดี จะแสดงความคิดเห็นที่เป็นทิศทางบวก และเป็นประโยชน์ต่อวงสนทนาและการใช้ชีวิต ในขณะที่ทางด้านของการสร้างอำนาจ จะยกยอความคิดและจริยธรรมของตนเอง รวมไปถึงใช้การใช้วิธีว่าร้ายลดค่า กดดัน ข่มขู่ และทำให้ผู้อื่นอับอาย ซึ่งไม่นานมานี้ก็มีงานวิจัยศึกษาว่า บุคคลที่ Moral grandstanding มักจะมีความปรารถนาและพฤติกรรมที่ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการความเคารพยกย่อง หรือต้องการอำนาจ ผู้สนใจสามารถทำแบบทดสอบได้ที่ ลิงค์ นี้

 

 

นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะบอกได้ว่าใครกำลัง Moral grandstanding เพราะเราจะตัดสินได้ชัดเจนที่สุดจากแรงจูงใจที่ต้องการมีตัวตนหรือต้องการได้รับการเคารพนับถือของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่มีทางที่เราจะตัดสินได้ทันทีจากการแสดงความคิดเห็นที่มีตัวหนังสือไม่กี่บรรทัด ความยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ Moral grandstanding มักจะแสดงความคิดเห็นในทางอ้อม เพราะการที่ใครคนหนึ่งจะมายืนหยัดยกยอตนเองอย่างชัดเจนว่ามีศีลธรรมสูงส่งกว่าใครในที่นี้ ก็คงจะไม่ได้รับผลที่ดี Moral grandstander มักจะใช้วิธีการแสดงความไม่พอใจ และการวางตัวอยู่บนฝั่งของศีลธรรมอันดี สรุปได้ว่า ด้วยความที่เราไม่สามารถรู้ความคิดและแรงจูงใจของผู้คน ก็ยากที่เราจะตัดสินว่าใคร Moral grandstanding ในขณะที่การระบุว่า เขาต้องการได้รับการเคารพยกย่องไหมอาจจะสังเกตได้จากความรู้สึกผิดหวัง ไม่พึงพอใจเมื่อไม่ได้รับการยอมรับหรือจดจำจากบุคคลอื่น

 

จากที่ได้กล่าวไปแล้วจะเห็นได้ว่า การระบุพฤติกรรม grandstanding ให้ได้ชัดเจนแม่นยำเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และการพยายามระบุว่าใครกำลัง Moral grandstanding ก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์เท่าไหร่ แต่จากบทความนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนสามารถใช้การโต้แย้งทางจริยธรรมเพื่อให้ได้รับการยอมรับอย่างเห็นแก่ตัว ซึ่งเมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราก็ควรระวัง และคิดให้รอบคอบก่อนแสดงความคิดเห็น โดยต้องคำนึงว่าความคิดเห็นของเราจะส่งผลต่อการโต้แย้งในลักษณะใด เรากำลังพยายามถ่ายทอดความเข้าใจของเรา หรือเรากำลังทำให้การโต้แย้งนี้ซับซ้อนวุ่นวายมากยิ่งขึ้น ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์เมื่อเราต้องเข้าสู่การสนทนาครั้งต่อไป ว่าควรจะปรับปรุงอะไรก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นแต่ละครั้งนะครับ

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย Dr. Harry Manley

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 


 

 

About the Author.

Harry Manley is a lecturer in the Faculty of Psychology at Chulalongkorn University. Twitter @harrisonmanley

Share this content