Machiavellianism – บุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียน

05 Feb 2016

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

นิโคโล แมคคิเวลลี (Niccolò Machiavelli) นักการทูตชาวอิตาเลียน (ค.ศ. 1469 – 1527 : ยุคเรอเนซองส์) ที่ได้สังเกตพฤติกรรมพฤติกรรมและอำนาจของเขาเองขณะที่ดำรงตำแหน่งในฐานะนักการทูต และเขียนออกมาเป็นหนังสือเพื่อแนะนำเทคนิคที่บุคคลสามารถนำไปใช้จัดกระทำกับผู้อื่นตามความต้องการของตน หนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว แม้จะได้รับการโจมตีอย่างหนักถึงเรื่องศีลธรรมความดีงาม แต่ชื่อเสียงของเขาก็ทำให้นามสกุล “แมคคิเวลลี / มาเกียเวลลี” กลายเป็นคำศัพท์ทางการเมือง หมายถึง ผู้เฉียบแหลมมีปฏิภาณ และ “แมคคิเวลเลียน / มาเกียเวลเลียน” หมายถึง การใช้เล่ห์เหลี่ยมอุบายทางการเมือง

 

ในปี ค.ศ. 1970 Christie และ Geis ได้ศึกษาและให้คำนิยาม “บุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียน” ในบริบทพฤติกรรมองค์การ จากการที่พวกเขาได้สังเกตและมีประสบการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งหรือควบคุมผู้อื่น อาทิ อธิการบดีมหาวิทยาลัย คณบดี ประธานกรรมการของกรมการทหาร ผู้บริหารบริษัท และข้าราชการชั้นสูง แล้วพบลักษณะร่วมบางอย่างของคนเหล่านี้ และมองว่าน่าจะเป็นไปได้ที่มนุษย์จะมีลักษณะในตัวบางอย่างที่ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องดีงาม หรือความไม่น่าไว้เนื้อเชื่อใจที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เอง

 

ตั้งแต่นั้น นิยามและแบบวัดบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนก็เป็นที่รู้จักและได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง มีการหาความสัมพันธ์ของตัวแปรบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนกับตัวแปรทางสังคมอื่นๆ ตลอดจนนำไปประยุกต์ในการศึกษาในบริบทที่กว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ การบริหารจัดการศีลธรรม ภาวะผู้นำที่แท้จริง การเมืองในองค์การ และความไว้วางใจ

 

สุมาลัย พวงเกตุ (2553) ได้สรุปลักษณะของบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนสูงและบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนต่ำ จากงานวิจัยที่ผ่านมาของ Christie และ Geis (1970), Nelson และ Gilbertson (1991), Wilson, Near และ Miller (1996) ไว้ดังนี้

 

“ผู้มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนสูง”

 

– ต่อต้านอิทธิพลจากสังคม
– ซ่อนความเชื่อลึกๆ ส่วนตัวเอาไว้
– เปลี่ยนจุดยืนของการโต้แย้งอย่างรวดเร็ว
– ไม่ยอมรับสารภาพ
– ทำให้ผู้อื่นเชื่อได้ว่ากำลังพูดความจริง
– เคลือบแคลงสงสัยในวัตถุประสงค์ของผู้อื่น
– วิเคราะห์สถานการณ์ได้
– ไม่ตอบแทนบุญคุณผู้อื่น
– ไม่ตัดสินการแสดงออกของผู้อื่น
– สามารถเปลี่ยนวิธีการเพื่อจัดการในสถานการณ์ที่ต่างกันได้
– พูดในสิ่งที่ผู้อื่นอยากได้ยิน
– อ่อนไหวต่อข้อมูลเกี่ยวกับผู้อื่น
– กระทำกับผู้อื่นในลักษณะเอาเปรียบผู้อื่นแต่ไม่เป็นอันตราย
– เอาเปรียบผู้อื่นมากขึ้นเมื่อเขาไม่แก้แค้นคืน
– แม้จะมีสิ่งดึงดูดก็ไม่ยอมตาม หรือเปลี่ยนแปลงเจตคติ
– ควบคุมหรือจัดการกับผู้อื่นได้อย่างแยบยล
– ชอบสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
– ในฐานะที่เป็นผู้นำจะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนที่มีตำแหน่งเดียวกัน

 

“ผู้มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนต่ำ”

 

– เปราะบางต่อความคิดเห็นของผู้อื่น
– เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงความเชื่อภายในของตน
– ยึดมั่นในความเชื่อของตนเอง
– ยอมรับสารภาพอย่างรวดเร็ว
– ไม่ต้องโน้มน้าวในเชื่อตามเมื่อพูดความจริง
– ยอมรับวัตถุประสงค์ของผู้อื่นตามความเป็นจริง
– ประเมินสถานการณ์ได้ช้า
– ตอบแทนผู้อื่น
– เชื่อว่าผู้อื่นควรแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา
– แสดงพฤติกรรมรูปแบบเดียวตลอดเวลา
– บอกความจริง
– อ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้อื่น
– อาจจะแสดงออกอย่างไม่มีเหตุผลเมื่อมีการเจรจาต่อรอง
– ไม่ยอมเอาเปรียบผู้อื่น
– แสดงออกในแบบที่สังคมยอมรับ
– ตัดสินใจอย่างตรงไหนตรงมา
– มองหาแต่สิ่งแวดล้อมที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

ข้อมูลจาก

 

“การทำนายความไม่สอดคล้องระหว่างเจตคติต่อกลุ่มทางการเมืองในประเทศไทยที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยนัย ด้วยตัวแปรการกำกับการแสดงออกของตนและบุคลิกภาพแบบเมคคิเวลเลียน” โดย สุมาลัย พวงเกตุ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21222

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแมคคิเวลเลียนและการแข่งขันต่อพฤติกรรมประจบประแจงในบริบทขององค์การ” โดย มนฤดี สายสิงห์ (2549) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/8475

Share this content