สูงวัยที่ใจเป็นสุข

07 Apr 2017

ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

 

สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงวัย การเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขคงเป็นที่พึงปรารถนาของคนทุกคน ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ตรงทั้งด้านชีวิตและจิตใจของผู้สูงวัยที่มีความสุขรายหนึ่งที่สรุปเรียบเรียงมาจากการสัมภาษณ์

 

การเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขนั้นย่อมมาจากการเป็นผู้ที่เตรียมตนมาดีตั้งแต่เยาว์วัย จนมาเป็นวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ ฯลฯ ตามลำดับ บทความนี้จึงมุ่งเสนอมุมมองสำหรับผู้อ่านทุกวัย ทั้งที่เป็นผู้สูงวัยในปัจจุบันและจะเป็นในอนาคต

 

Q: ท่านดูแลตนให้มีสุขภาพดีอย่างไร

 

A: สุขภาพแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ สุขภาพกายและสุขภาพใจ การดูแลสุขภาพกาย ทำได้โดยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ตามเวลา คอยสังเกตตัวเองว่ามีอะไรที่ผิดปกติไปหรือเปล่า หากมีให้พบแพทย์โดยไม่รอช้า ส่วนการดูแลสุขภาพจิต ใช้การฝึกจิตอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่กระทบ และไม่ถลำลงไปในอารมณ์ทางลบ

 

Q: เรื่องใดบ้างที่ทำให้ท่านยิ้มได้อย่างมีความสุข

 

A: การที่ได้ทำงานช่วยเหลือคนอื่นด้วยความรู้ความสามารถที่เรามี ด้วยตัวตนของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข

 

Q: เมื่อมีปัญหาหรือความเครียดเกิดขึ้น ท่านมีวิธีการจัดการอย่างไรให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น

 

A: ความเครียดส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องคน ให้สังเกตใจของตัวเราเองว่าอะไรที่มากระทบและรับรู้ให้ทัน ไม่ไปเสริมแต่ง บางอย่างเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถจัดการได้ อาจใช้วิธีปรับเปลี่ยนสถานการณ์แทน เช่น คนที่พูดไม่ดี แสดงว่าเขามีจิตใจทางลบ เราต้องใช้สติและปัญญา ไม่แบกรับเอาความไม่ดีของคนอื่นมาเป็นอารมณ์ อาจหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปยุ่งด้วย หรือหาหนทางที่จะไม่กระตุ้นให้เขามีอารมณ์ทางลบเพิ่มขึ้นมา ตักเตือนหรือให้สติในกรณีที่เราสามารถเตือนได้และเมื่อใจของเขาเปิดรับ

 

หลักในการคิด เมื่ออยู่กับคน คือ เราต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้ร้ายใคร หรือแม้ใครให้ร้ายเรา เราก็ต้องนิ่งเฉย “เขากระทบแต่เราไม่กระเทือน”

ที่สำคัญ ทุกการกระทำต้องมาจากความปรารถนาดี และมีสติ

 

Q: ถ้าย้อนเวลาได้ ท่านอยากกลับไปมีชีวิตแบบตอนที่ท่านมีอายุเท่าใด เพราะเหตุใด

 

A: ไม่ขอย้อน เพราะรู้สึกพอใจกับการก้าวผ่านมาเรื่อยๆ และได้ก้าวอย่างมีสติมาตลอดแล้ว จึงพอใจกับทุกช่วงเวลาที่ตัวเองเป็น ตอนนี้ก็พอใจและมองว่าปีหน้าก็คงพอใจ

 

โดยปัจจุบันที่มีความสุขก็มาจากอดีตที่ได้สั่งสมมาดี ซึ่งชีวิตดีไม่ได้หมายความว่าโรยด้วยกลีบดอกไม้ แต่เป็นการ “อยู่ได้” ในทุกสถานการณ์ และมีเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจนว่าจะดำเนินชีวิตไปในทางไหนเพราะได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและเลือกแล้ว เข้าใจชัดเจนว่าสิ่งใดดี เราเลือกที่จะทำ สิ่งใดไม่ดี เราเลือกที่จะไม่ทำโดยเด็ดขาด จึงทำให้การดำเนินชีวิตและการตัดสินใจทุกย่างก้าวไม่สับสน แต่กลับมีความรู้สึกมั่นคง มีความสุข ไม่เดือดร้อน ไม่ดิ้นรน แต่ก็ไม่ได้หยุดทำงาน โดยงานที่ทำนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นงานทำให้มีชื่อเสียงหรือได้มาซึ่งเงินจำนวนมาก แต่เป็นงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางบวกให้แก่เพื่อนมนุษย์แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดี

 

Q: มีเรื่องราวใดบ้างในอดีตที่ท่านรู้สึกประทับใจและยังคงจำได้จนถึงทุกวันนี้

 

A: สมัยเรียนตอนอายุประมาณ 18-19 ปี เคยไปเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือเด็กก่อนวัยเรียนที่ชุมชนคลองเตยทุกอาทิตย์ เป็นกิจกรรมของชมรม

ชุมชนคลองเตยในตอนนั้นยังไม่มีถนนต้องเดินข้ามสะพานไม้ผ่านแอ่งน้ำที่เน่าเสีย เด็กที่นั่นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีฐานะยากจน วันหนึ่งที่ชุมชนจัดงานปีใหม่ มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 6 ขวบ ซึ่งได้รับรู้มาว่าเขามีพ่อติดเหล้า เลี้ยงลูกตามลำพัง โดยแม่ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว วันนั้นเด็กคนนี้นำหมากฝรั่งในกล่องขนาดเล็กที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งของหัวแม่โป้ง และห่อด้วยกระดาษห่อของขวัญด้วยความประณีตตามความสามารถที่เด็กวัยเขาจะพึงทำได้ นำมายื่นให้พร้อมกับพูดว่า “ครู… ให้…” เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งใจอย่างยิ่งเป็นภาพที่สวยงามในชีวิตที่ยังจดจำได้จนถึงทุกวันนี้ ทำให้เห็นว่าความดีอยู่ในใจคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหนอายุเท่าใด ถ้าเพียงแต่เราจะค้นและพบได้ แม้เด็กคนนี้จะดูเหมือนไม่สมบูรณ์แบบดังเช่นคนอื่น อยู่อย่างลำบากท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นสลัมหรือชุมชนแออัด แต่เขาก็ยังมีความกตัญญู เขาสามารถเป็นผู้ให้และซาบซึ้งในสิ่งที่คนอื่นทำให้เขาได้ และตั้งใจหาโอกาสตอบแทนตามกำลังที่ตนมี แม้มีอายุเพียง 6 ขวบ

 

สิ่งนี้จึงเป็นกำลังใจในการทำงานและทำให้ชื่นชมคนรอบๆ ตัวได้เสมอ โดยไม่ได้สนใจดูที่เปลือก แต่เป็นการมองให้เห็นคุณงามความดีที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจ

 

Q: ท่านทำอย่างไรให้คนในสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เกิดความแตกแยก

 

A: ความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา อาจมองเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำที่ทำให้เราได้เปิดความคิดและโลกประสบการณ์ของตัวเราเอง ดังนั้น ความหลากหลายเป็นสิ่งที่งดงาม แต่ปัญหาคือการอยู่กับความแตกต่างอย่างยอมรับต่างหาก บางคนรับคนที่คิดไม่เหมือนกับตัวเองไม่ได้ เราจึงต้องคอยถามตัวเองเสมอๆ ว่าเราเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า อย่างเช่น การเห็นภาพบนรถไฟฟ้าที่ผู้คนจำนวนมาก connect กับอุปกรณ์สื่อสารมากกว่ามนุษย์ที่อยู่รอบๆข้าง จนทำให้บางครั้งเขามองข้ามมนุษย์ที่ต้องการความช่วยเหลือ สำหรับตนเองแล้วภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้ สิ่งที่พยายามจะทำคือการทำความเข้าใจและตั้งใจว่าจะไม่เป็นแบบนั้น ไม่เป็นทาสของเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย ไม่ละเลยความเดือดร้อนของผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา

 

สรุปก็คือ มองว่าทุกคนมีความเป็นคน เป็นคนที่มีคุณค่าในมุมใดมุมหนึ่ง หรือหลายๆ มุม เรามีจุดยืนของเราได้แต่ต้องเคารพคนอื่นในฐานะมนุษย์ด้วย

หากเป็นกลุ่มเพื่อนเราก็แบ่งปันความคิดของเราโดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนความคิดใคร หรือหากเป็นเรื่องความแตกต่างทางความคิดหลักของสังคม เราต้องคอยสังเกตตัวเองว่าเราเบียดเบียนสังคมหรือละเมิดคนอื่นหรือเปล่า ในความต่างของเรา ตัวเรามักต่อว่าคนที่ไม่เหมือนเรา หรือเรามักจะคิดว่าเขาต้องเหมือนเราหรือเปล่า ทุกครั้งที่คิดจะเปลี่ยนคนอื่น ต้องย้อนกลับมาต้องทบทวนตนเองและใคร่ครวญให้ดี

 

Q: สิ่งที่ท่านคิดว่าสำคัญที่สุดในชีวิตท่าน ณ ปัจจุบัน คืออะไร (สามารถตอบได้มากกว่าหนึ่ง)

 

A: การทำหน้าที่ให้บรรลุภารกิจตามที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามกำลังโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การดูแลครอบครัวซึ่งมีพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชราเรื่องความเป็นอยู่ สุขภาพทั้งกายและใจ

 

การทำหน้าที่ที่เป็นภารกิจการงานราชการ และงานจากภายนอกที่เป็นงานช่วยเหลือสังคม

 

Q: เหตุการณ์ใดหรืออะไรที่ทำให้ท่านรู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิต

 

A: การชนะใจตัวเองและให้อภัยคนที่คิดไม่ดีกับเรา คือสิ่งที่ภูมิใจที่สุด ไม่ว่ากับใครหรือกับเหตุการณ์อะไร การก้าวข้ามความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกเสียใจ โดยเฉพาะกับคนที่ทำร้ายเรา และสามารถเมตตาหรือปรารถนาดีกลับไปทั้งต่อหน้าและลับหลังได้ เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องอื่นๆ ที่เคยทำอะไรสำเร็จมาในชีวิตมากมายหลายอย่าง เช่น การได้รับทุน การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ การได้ติดบอร์ดเพราะสอบได้คะแนนดี หรือการเรียนจบเร็ว การได้ทำงานที่ถูกใจ กลายเป็นเรื่องที่น้อยนิด เมื่อเทียบกับการชนะใจตัวเองซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า เพราะต้องฝึกจิตให้สงบ สังเกตใจตนเอง ฝึกมองจุดดีของคน

 

กับคนที่ทำร้ายเราถ้าเราเพ่งเล็งแต่สิ่งที่ไม่ดีที่เขาทำ จะทำให้เราเคลื่อนออกจากภาพลบนั้นยาก แต่ถ้าเรามองหาข้อดีของเขา เราจะเริ่มแยกแยะและเพ่งไปที่ส่วนดีที่เขามี แม้ไม่ได้ดีกับเรา แต่เป็นการที่เขาดีกับคนอื่นก็ได้ จะทำให้เราคลายใจได้ง่ายขึ้น และต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าพร้อมหรือเปล่า เรากำลังแบกรับสิ่งไม่ดีไว้ในใจหรือเปล่า ทำใจให้สมดุล ฝึกมองอะไรโดยแยกแยะตามความเป็นจริง ไม่มีใครดี 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวเราก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราแบกแต่จุดดำที่เขาป้ายให้เรา เราก็จะเจ็บแค้น ไม่สามารถเคลื่อนภาพการมองไปเห็นข้อดีข้ออื่น แม้เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ทำกับเรา แต่ทำกับอะไรก็ตาม

 

Q: ในความคิดของท่าน คำว่า “ผู้สูงวัยที่มีความสุขในชีวิตบั้นปลาย” คืออะไร

 

A: เป็นคนที่เต็มแล้ว คิดถึงสวัสดิภาพและความสุขของคนอื่นมากกว่าตัวเอง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เยินยอตัวเองหรือหวังลาภยศสรรเสริญอำนาจ แต่ยอมรับตัวเองตามสภาพที่เป็น เห็นคุณค่าในตนเองและขับเคลื่อนชีวิตตามจังหวะ ตามค่านิยมของเรา เห็นคุณค่าของทุกๆ ชีวิต และดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แก่สังคม แก่โลก

 

Q: ท่านได้วางแผนหรือเตรียมการอย่างไร สำหรับการดำเนินชีวิตในวัยหลังเกษียณ

 

A: มีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น ทำกิจกรรมอื่นที่ทำอยู่แล้วแต่ทำให้มากขึ้น อย่างเช่น การช่วยมูลนิธิฯ การดูแลครอบครัว ดูแลทรัพย์สมบัติของครอบครัวให้เหมาะสม การทำงานเพื่อสังคม เป็นต้น

 

Q: ท่านมีโครงการหรือกิจกรรมใดบ้างที่ท่านคิดจะทำ (หรือได้ทำไปบ้างแล้ว) หลังเกษียณ

 

A: ช่วยเพื่อนร่วมวิชาชีพสานต่อโครงการ สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวจากเมื่อปีก่อน งานนี้เป็นงาน Intervention ที่มีผลการวิจัยรองรับ จึงหวังว่าจะมีโอกาสขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป เพราะการสร้างเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ความละเอียด ความรู้ความสามารถ และจังหวะที่เหมาะสม ถึงจะเปลี่ยนแปลงอย่างสวยงาม ไม่สามารถรวบรัดรีบร้อนได้

 

นอกจากนี้ ถ้ามีโอกาส ยังอยากทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาคน ด้วยความรู้ความสามารถที่มีอยู่ กับด้วยเครื่องมือหรือ Intervention ที่มีความชำนาญ

 

Q: ท่านคิดว่าตนมีความสามารถเชี่ยวชาญในเรื่องใด ท่านได้สอนหรือเผยแพร่ความรู้นั้นให้คนรุ่นหลังหรือไม่อย่างไร

 

A: เชี่ยวชาญด้าน Intervention เกี่ยวกับมนุษย์ อย่างเช่น Supervision in Counseling, Family Intervention ต่างๆ รวมทั้ง Career Development โดยนำความรู้ที่ได้เรียนและประสบการณ์ที่มีมาถ่ายทอดให้กับนิสิตในวิชาเรียน ซึ่งผลงานสำคัญของการเป็นครูอยู่ที่ตัวเด็ก บางคนกลายเป็นต้นกล้าที่ดีตามแบบที่คิดไว้ อย่างเช่น ลูกศิษย์ที่เรียนจบแล้วออกไปขับเคลื่อนสิ่งที่ดีงามให้กับสังคม ลูกศิษย์ที่ดีจึงทำให้คนเป็นครูภูมิใจและเป็นอีกหนึ่งที่มาของความสุข เป็นความสุขจากการได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญญา ด้านความคิด หรือคุณธรรม ดังนั้น ผลงานจึงไม่ได้เกิดจากการโฆษณาตัวเองว่าทำอะไรไปบ้างแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์ที่เรามีส่วนขัดเกลาเขา ครูมีหน้าที่พัฒนาศิษย์ให้เป็นคนดี

 

Q: ท่านเรียนรู้อะไรจากการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของท่าน มีแนวทางการใช้ชีวิตอะไรบ้าง ที่อยากบอกคนรุ่นต่อไป

 

A:

  • จงเปิดรับประสบการณ์ เพื่อหาตัวตนที่แท้จริงให้พบ
  • จงเลือกอย่างฉลาด ด้วยการรู้ชัดในค่านิยมของตน และเลือกอย่างมีสติให้สอดคล้องกับค่านิยม ไม่ใช่ไม่เลือก ปล่อยไปตามกระแสสังคม
  • สิ่งสำคัญคือต้องมีศีลธรรม คิดว่าสิ่งที่เราทำต้องไม่ไปเบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น รวมถึงต้องไม่เบียดเบียนโลก บางครั้งเราอาจนึกไม่ถึง อย่างเช่น การใช้กระดาษเปลือง บางคนมองว่ามีเงินซื้อ โดยที่ไม่ได้มองไปถึงผลกระทบที่อาจตามมา ว่าหากเราใช้มากเกินจำเป็นก็อาจกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทำให้โลกร้อนขึ้นได้ ดังนั้น ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ประหยัด และมีความเหมาะสม อย่าหมกมุ่นครุ่นคิดแต่ผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับแต่ให้เปิดใจนึกถึงคนอื่น เพราะถ้าเราใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยก็อาจทำให้อายุการดำรงอยู่ของทรัพยากรลดลงและกระทบต่อคนรุ่นหลัง หรือแม้แต่การดำรงอยู่ของเราเองเช่นกัน

 

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content