ไปเที่ยวกับครอบครัว… มีเสียงของคุณลูกมากน้อยแค่ไหน?

10 Jan 2022

คุณณัฐนันท์ มั่นคง

เราก็อยู่กับ Covid–19 มาจะ 2 ปีแล้ว ผ่านมาทั้งช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อเป็นเลขสูง ๆ และเลขต่ำ ๆ วัคซีนก็น่าจะเริ่มฉีดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนก็ได้เข็ม 3-4 กันแล้ว มีใครเริ่มทนไม่ไหวออกไปเที่ยวกันมาแล้วบ้างเอ่ย? เที่ยวคนเดียว เที่ยวกับเพื่อน หรือกับครอบครัวกันครับ? แต่ถึงใครจะตอบว่าอย่างไร ก็จะเขียนเรื่องการเที่ยวกับครอบครัวอยู่แล้ว ขอโทษที่ทำให้บางท่านผิดหวังด้วยครับ…

 

ใครในบ้านที่ต้องเป็นคนวางแผนครอบครัวออกไปเที่ยว?

 

และใครได้รับบทบาทหน้าที่อะไรในการเที่ยวแต่ละครั้งบ้าง?

 

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มมีคนศึกษาเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ค่านิยมชายเป็นใหญ่ยังอยู่ แน่นอนว่าผลก็คือ สามีเป็นใหญ่ในการตัดสินใจหลายเรื่อง ซึ่งการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในนั้น ในขณะที่ปัจจุบันบางครอบครัว ภรรยาจะเป็นใหญ่ในการตัดสินใจได้เช่นกัน อย่างในครอบครัวที่สามีอาจจะทำงานหนักจนแทบไม่เห็นหน้าลูกอย่างในละคร หรือสามีที่เป็นสมาชิกสมาคมพ่อบ้านใด ๆ ภรรยาที่มีหน้าที่เลี้ยงลูกและจัดการหลาย ๆ เรื่องในบ้านก็มีแนวโน้มเป็นผู้ตัดสินใจหลักในการท่องเที่ยว หรือว่าจะเป็นลักษณะของการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลย ก็จะกลายเป็นลักษณะของการที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจหลัก เพราะโดนผลักภาระได้

 

ในครอบครัวยุคใหม่ ที่ทั้งสามีภรรยามีการศึกษาเท่ากัน มีภาระหน้าที่เสมอกัน ได้มีโอกาสช่วยกันดูแลลูก ก็สามารถวางแผนการท่องเที่ยวโดยตัดสินใจร่วมกัน หรือหากเป็นการท่องเที่ยวที่ใช้เงินเยอะอย่างการไปต่างประเทศ หรือการไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้จากความกังวลทั้งเรื่อง ทรัพย์สิน เวลา ความสัมพันธ์ ฯลฯ ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะวางแผนการท่องเที่ยวโดยตัดสินใจร่วมกัน ที่จะสร้างความผูกพันให้ครอบครัวได้มากกว่า แต่ถึงใครจะเป็นผู้ตัดสินใจก็ตาม เมื่อถึงเวลาออกเที่ยวจริง ๆ แล้ว แต่ละฝ่ายก็มีบทบาทเป็นของตัวเองด้วย เช่น ภรรยามักจะเป็นคนดูแลค่าใช้จ่าย ดูแลความเป็นอยู่ของลูก และคอยกระตุ้นความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่วนสามีก็จะคอยประเมินความเสี่ยงของกิจกรรม และดูแลความปลอดภัยของการเดินทางและการท่องเที่ยว แต่หากบิดาเกิดไม่คุ้นชินกับลูกก็อาจเป็นได้แค่ผู้ติดตาม หรือผู้สนับสนุนได้

 

แล้วคุณลูกของเรามีส่วนในการตัดสินใจเที่ยวกับการเที่ยวของครอบครัวแค่ไหน ?

 

นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจแบบครอบครัว ค่อนข้างจะได้ผลตรงกันว่า เด็กมักมีส่วนสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนไปเที่ยว ในกระบวนการของการสร้างไอเดียให้พ่อแม่วางแผนการท่องเที่ยว และการตัดสินใจขั้นท้ายสุด โดยทั่วไปเด็กวัยแรกเกิดที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่วุ่นวายกับการให้นมและการนอนของลูก รวมกับภูมิต้านทานของน้องที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ฯลฯ ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจไปเที่ยวของคุณพ่อคุณแม่มาก ๆ เลยก็คือ อย่าได้ฝืนไปให้ลำบากเลย แต่เมื่อคุณลูกโตขึ้นเริ่มช่วยเหลือตัวเอง สื่อสาร และแสดงพฤติกรรมได้มากขึ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่อยากไปเที่ยวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ก็จะเริ่มสังเกตพฤติกรรม หรือถามความเห็นของลูก เพื่อนำมาเป็นตัวตั้งต้นในการกำหนดสถานที่เที่ยว แต่ในช่วงวัย 2-4 เด็กจะยังไม่ได้มีความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวมากนัก และเวลาที่คุณพ่อแม่จะพูดคุยกับเด็กก็จะเป็น เวลาเล่น เวลากินข้าวและดูโทรทัศน์ หากถามว่าน้องอยากไปไหน ก็อาจจะได้คำตอบเช่น “อยากเล่นทรายเยอะ ๆ” หรือ “อยากเห็นทุ่งข้าวสาลี” และพ่อแม่ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปกำหนดสถานที่เที่ยวต่อไป และหลังจากกำหนดสถานที่และวางแผน ก็จะถามลูกเป็นการยืนยันอีกคร้งว่า “อยากให้แม่พาไปดูปลาไหมคะ” “อยากไปเล่นทรายที่ทะเลไหม” เป็นต้น

 

นอกจากลูกน้อยจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกที่เที่ยวแล้ว ในระหว่างการท่องเที่ยว เด็ก ๆ ก็มักจะมีผลกับการใช้จ่ายของครอบครัวด้วย พาลูกมาเที่ยวขนาดนี้มีบ้านไหนจะยอมขาดขนม ของเล่น ฯลฯ มาคอยเอาใจลูกน้อย ทั้งเพื่อทำคะแนนความสัมพันธ์กับลูก และเพื่อป้องกันการขัดใจลูกจนอาละวาดระหว่างการท่องเที่ยว

 

เด็กโตและวัยรุ่นที่สื่อสารได้มากขึ้น แต่ละคนก็จะมีส่วนร่วมแตกต่างกันไป ลูกที่มีความสนใจและศึกษาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะมีบทบาทสำคัญหรืออาจจะมาเป็นคนวางแผนหลักแทนพ่อแม่ได้ ในขณะที่ลูกที่ไม่สนใจการเที่ยวก็จะเป็นผู้ตามที่ดี หรือถ้าประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ผ่านมามันแย่มาก ๆ วัยรุ่นก็เรียนรู้ที่จะปฏิเสธอาจจะปล่อยพ่อแม่ไปเที่ยวแล้วอยู่เฝ้าบ้านคนเดียวก็ได้

 

 

ญาติเข้ามาสร้างประสบการณ์หลากหลายให้กับการท่องเที่ยวของลูก…ทั้งแบบดีและไม่ดี

 

สำหรับประเทศไทย ญาติก็มีผลได้หลาย ๆ สถานการณ์ เช่น การมีญาติสูงอายุช่วยดูแลลูกอยู่ในครอบครัว ส่วนหนึ่งก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ในการดูแลลูก แต่อีกส่วนหนึ่ง พ่อแม่ก็จะต้องแบ่งความสนใจจากลูก มาดูแลเอาใจผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่ตัวเองด้วยเช่นกัน อีกทั้งการมีผู้สูงอายุจะเพิ่มข้อจำกัดทำให้แผนการท่องเที่ยวใช้แรงกายมากไม่ได้ ทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่โดยรวมแล้วญาติสูงอายุที่อยู่กับคุณลูกเป็นประจำและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกก็จะสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีได้

 

การมีญาติอยู่ต่างจังหวัดหรือวันรวมญาติ ก็เป็นกรณีที่ทำให้ครอบครัวต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาปีละ 1 ครั้ง หรือ มากกว่านั้น เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ซึ่งก็มักจะเป็นกิจกรรมของพ่อแม่ ที่ลูกมักจะไม่มีส่วนในการตัดสินใจและปฏิเสธได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นซ้ำทุกปี ถ้าเป็นการเดินทางที่ทั้งต้องเดินทางนั่งรถยาวนาน แล้วยังไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดี แน่นอนว่าจะเกิดความเบื่อหน่าย พ่อแม่มักจะอธิบายถึงเหตุผล ความสำคัญ ความเชื่อ ฯลฯ ของกิจกรรมรวมญาติ แต่ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนไปก็มีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ยอมรับน้อยลง และตั้งคำถามมากขึ้น ต้องคอยพยายามเบี่ยงเบนความสนใจแวะหาของกิน หรือแวะเที่ยวตามทางเป็นการผ่อนคลาย

 

ในวันรวมญาตินั้น วัยของเด็กก็จะมีผลต่อวงสนทนาของญาติต่างกัน สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็กก็จะง่ายเพราะเด็กจะเป็นที่สนใจของทุกคน เด็กก็จะสำรวจ คลาน-เดิน ไปมาให้ญาติได้ชื่นชมความน่ารัก แต่เด็กที่โตขึ้นมาแล้วในยุคสมัยก่อนหน้า การที่เด็กมารวมตัวกัน ก็อาจจะได้วิ่งเล่นใช้แรงได้เห็นพฤติกรรม อารมณ์ ของเด็ก ก็สามารถพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า หรือร่วมเล่นกับเด็ก สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างญาติได้ แต่ในปัจจุบันที่มีมือถืออยู่ทำให้เด็กสามารถเพลิดเพลินได้ด้วยตัวเอง (พ่อแม่ก็เช่นกัน) แล้วก็ดูมือถืออยู่แต่กับครอบครัวตนเอง ทำให้การร่วมเล่นของกลุ่มญาติเกิดได้ยากขึ้น ในวงสนทนาพ่อแม่ต้องเอาคุณลักษณะอื่น ๆ หรือผลงานของลูกมาคุยกันคล้ายเป็นการอวด พ่อแม่และญาติอาจต้องพยายามมากขึ้นเพื่อจะทำให้ ลูก/หลาน ได้ปฏิสัมพันธ์กัน และหลีกเลี่ยงบรรยากาศของการเปรียบเทียบ

 

 

โดยสรุปแล้วก็คือ ลูกจะมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจท่องเที่ยวของครอบครัวมากขึ้นตามวัยที่สามารถสื่อสารและแสดงความต้องการของตนเอง ความสนใจในการท่องเที่ยวของลูกที่สูง ก็จะยิ่งทำให้มีบทบาทมากขึ้น ทำให้ได้การท่องเที่ยวที่ลูกพอใจ พ่อแม่ไม่ต้องมาคิดหัวแตกว่าวางแผนเองแล้วพอลูกไปแล้วจะถูกใจไหม เหลือแต่คอยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องคอยกำกับ แต่ว่ายังไงเที่ยวช่วงนี้ก็ยังต้องระมัดระวังโรคด้วยนะครับ ถึงแม้จะบอกว่าคุณพ่อมักจะมีบทบาทดูแลความปลอดภัย แต่โรคติดต่ออย่างงี้ คุณพ่อคนเดียวเอาไม่อยู่ ต้องช่วยกันดูแลทั้งครอบครัวนะครับ

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

Li, M., Lin, G., & Feng, X. (2021). An Interactive Family Tourism Decision Model. Journal of Travel Research, 00472875211056682.

 

Wang, Y., & Li, M. (2021). Family Identity Bundles and Holiday Decision Making. Journal of Travel Research, 60(3), 486-502.

ภาพจาก https://www.freepik.com/

 


 

บทความวิชาการ

โดย คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content