Democratic behavior – พฤติกรรมประชาธิปไตย

27 Oct 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงได้ คนในสังคมจำเป็นต้องมีจิตใจ มีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่เป็นประชาธิปไตยด้วย การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงจะสมบูรณ์และประสบความสำเร็จได้

 

ที่ผ่านมามีผู้ศึกษาวิจัย นักรัฐศาสตร์และนักจิตวิทยาจำนวนมากได้กล่าวถึงพฤติกรรมประชาธิปไตยไว้ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (สมนึก มังน้อย, 2539)

 

1. การรู้จักบทบาทและหน้าที่ของตน
  • เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบแผนของสังคม
  • ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเต็มใจและเกิดผลดีต่อส่วนรวม
  • ปฏิบัติหน้าที่การงานสำเร็จตามกำหนดเวลาที่ได้รับมอบหมาย
  • เอาใจใส่ติดตามการปฏิบัติงานโดยไม่ทอดทิ้ง
  • ยอมรับบทบาทหน้าที่ของกันและกัน

 

2. การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
  • ให้โอกาสผู้อื่นแสดงความคิดเห็น
  • ไม่ดูถูกเหยียดหยามความคิดเห็นของผู้อื่น
  • สนใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความเต็มใจ
  • ซักถามโดยใช้เหตุผลเมื่อไม่เข้าใจความคิดเห็นของผู้อื่น
  • ไม่ยึดถือความเห็นของตนเองว่าถูกต้องเสมอไป

 

3. การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • รู้จักเสียสละโดยพิจารณาตามเหตุผลและความเหมาะสม
  • เต็มใจที่จะทำงานร่วมกับหมู่คณะ
  • ไม่ละเลยและเพิกเฉยต่อการกระทำใด ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมตามความสามารถและโอกาส
  • รู้จักอดทน อดกลั้น เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
  • รู้จักละอายใจต่อความประพฤติของตนที่จะรักษาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ

 

4. การยอมรับและเคารพในสิทธิและหน้าที่ของบุคคล
  • ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยไม่ก้าวก่ายหรือรบกวนหน้าที่ของผู้อื่น
  • รู้จักให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น ไม่สนใจและให้ความสำคัญแต่เฉพาะตนเองเท่านั้น
  • รักความยุติธรรม
  • รู้จักเห็นอกเห็นใจและห่วงใยผู้อื่น
  • ยอมรับมติของหมู่คณะ

 

5. การใช้ปัญญาหรือเหตุผลในการตัดสินปัญหา
  • รู้จักการใช้เหตุผลในการพิจารณาตัดสินปัญหาเมื่อเกิดข้อขัดแย้ง
  • ตัดสินปัญหาโดยใช้ข้อมูลประกอบ
  • ไม่นำความเชื่อหรือโชคลางมาเป็นเครื่องตัดสินใจ
  • รู้จักวิเคราะห์และประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยใช้สติปัญญาและเหตุผลตลอดเวลา
  • แยกเรื่องส่วนตัวกับหน้าที่การงานออกจากกันในการทำงาน หรือการตัดสินปัญหาใด ๆ

 

 

ปัจจัยคัดสรรที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมประชาธิปไตย

 

ได้แก่

 

1. การอบรมเลี้ยงดู

 

ครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก เป็นสถาบันที่สร้างบุคลิกภาพ พฤติกรรม และสติปัญญาในอนาคตของเด็ก ซึ่งรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูที่ส่งเสริมพฤติกรรมประชาธิปไตยให้แก่เด็ก คือ การอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (authoritative parenting style) หมายถึง การที่พ่อแม่มีการควบคุมความประพฤติของเด็ก แต่ขณะเดียวกันก็พยายามอธิบายเหตุผลประกอบการกระทำ ด้วยการอธิบายกฎเกณฑ์ที่เด็กจะต้องประพฤติ และมีการยอมรับเด็กในระดับสูง ตอบสนองความต้องการของเด็ก เด็กได้เป็นตัวของตัวเองตามสมควร พ่อแม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ถูกควบคุมและไม่เป็นอิสระมากจนเกินไป

 

ส่วนการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมากเกินไป แบบตามใจมากเกินไป และแบบปล่อยปละละเลย ไม่ช่วยให้เด็กมีความรับผิดชอบ ทำให้เด็กไม่มีวินัยในตนเอง ไม่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น หรือคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีเหตุผลในการคิดตัดสินปัญหา

 

2. เพศ

 

แต่ละเพศให้ความสนใจกับพฤติกรรมประชาธิปไตยแตกต่างกัน ด้วยบทบาททางเพศที่ถูกกำหนดไว้จากครอบครัวและสังคมที่คาดหวังต่อผู้ชายและผู้หญิงที่ต่างกัน โดยผลการวิจัยในประเทศไทยพบว่า ผู้ชายให้ความสนใจต่อข่าวสารทางการเมือง และมีความคาดหวังต่อประโยชน์ของการปกครองท้องถิ่นหรือสุขาภิบาล และอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าผู้หญิง

 

3. การร่วมกิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน

 

โรงเรียนเปรียบเสมือนสังคมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เด็กและวัยรุ่นมีพัฒนาการทางสังคมให้ดีขึ้น มีกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กมีส่วนเพื่อนร่วมให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคม เป็นสถานที่ถ่ายทอดการเรียนรู้ทางการเมืองทั้งทางตรง โดยการอบรมให้ความรู้ทางการเมืองการปกครอง และทางอ้อม โดยการจัดกิจกรรมให้เด็กได้รู้จักการปฏิบัติตนในสังคม สร้างพฤติกรรมทางการเมืองในโรงเรียน เช่น การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น การยอมรับฟังเหตุผล การเลือกคณะกรรมการนักเรียน หรือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานนักเรียน เป็นต้น

 

งานวิจัยในประเทศไทยพบว่า นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ มีทัศนคติทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มีความสำนึก และกระตือรือร้น สนใจในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนนักเรียนนายร้อยทหารบกและนักเรียนนายเรือ มีทัศนคติทางการเมืองทั้งแบบอำนาจนิยมและประชาธิปไตยอยู่ในคนเดียวกัน แต่มีความโน้มเอียงไปทางอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตย

 

4. การรับรู้ข่าวสาร

 

ข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เมื่อบุคคลต้องการข้อมูลในการตัดสินใจหรือไม่แน่ใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บุคคลจะต้องการข่าวสารเพิ่มมากขึ้น โดยสิ่งที่ทำให้บุคคลเลือกรับสื่อต่าง ๆ ได้แก่ ทัศนคติและประสบการณ์เดิมของตน ครอบครัว สังคม วัฒนธรรม อายุ เพศ ภูมิลำเนา ตลอดจนการศึกษา

 

ทั้งนี้ อิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีต่อประชาชนนั้นไม่ใช่อิทธิพลโดยตรง แต่เป็นอิทธิพลโดยอ้อม Klapper (1966) กล่าวว่า มีปัจจัยต่าง ๆ ที่กั้นอิทธิพลของสื่อมวลชน ได้แก่ ความมีใจโน้มเอียง/การเลือกของผู้รับสาร ผู้นำความคิดเห็นของคนในสังคม และธุรกิจด้านสื่อมวลชน (ว่ามีลักษณะเสรีหรือผูกขาดการนำเสนอข่าวสาร)

 

นอกจากนี้ อิทธิพลที่สื่อมวลชนมีต่อประชาชนเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น คือ สื่อจะสนับสนุนทัศนคติ ค่านิยม และแนวโน้มด้านพฤติกรรมของประชาชนให้มีความเข้มแข็งขึ้น พร้อมที่จะแสดงให้ปรากฏออกมาเมื่อมีแรงจูงใจเพียงพอหรือมีโอกาสที่เหมาะสม การทำหน้าที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงนั้น สื่อมวลชนจะสามารถมีอิทธิพลได้เมื่อบุคคลมีความโน้มเอียงที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว สื่อมวลชนเพียงแต่เป็นผู้เสนอหนทางในการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเท่านั้น และสื่อมวลชนสามารถสร้างทัศนคติและค่านิยมใหม่ให้แก่ประชาชนได้ก็ต่อเมื่อ บุคคลนั้น ๆ ไม่เคยมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นมาก่อน และบุคคลต้องได้รับสารที่เสนอเรื่องราวในแนวเดียวกันบ่อย ๆ เพราะการสร้างทัศนคติและค่านิยมใหม่นั้นเป็นอิทธิพลในลักษณะสะสมมีให้ก่อให้เกิดผลได้ในทันทีหรือระยะเวลาอันสั้น

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมประชาธิปไตยของวัยรุ่นตอนปลาย” โดย พัชราวลัย ศิลป (2545) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/10416

 

ภาพจาก https://www.huffingtonpost.com/fixcapitalism/do-we-really-want-democra_b_10799776.html

Share this content