ข่าวและกิจกรรม

การบรรยายพิเศษ เรื่อง “Applied Psychology in Italy and the International ICUP Model”

 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Applied Psychology in Italy and the International ICUP Model” โดยได้รับเกียรติจาก Honorary Professor Remo Job นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาระดับนานาชาติจากยุโรป ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย

 

 

 

การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดมุมมองใหม่ทางวิชาการและการวิจัยในสาขาจิตวิทยาประยุกต์ ให้กับนักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจด้านจิตวิทยา โดยได้รับความสนใจและการตอบรับจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก

 

 


 

 

 

 

เหมือนกันแค่ไหน…ก็สุขใจแค่นั้น

 

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เลือกแต่งงานด้วยความรัก ไม่ใช่หน้าที่ การมีชีวิตคู่ที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน อาจกลายเป็น “เป้าหมายของชีวิต” ไม่ต่างจากความสำเร็จในอาชีพการงานหรือการพัฒนาตัวเองเลย นี่จึงนำมาสู่อีกหนึ่งคำถามสำคัญว่า “อะไรที่ทำให้ชีวิตคู่มีความสุข โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คนมองหาความสัมพันธ์ที่ ‘เติบโตไปด้วยกัน’ ไม่ใช่แค่รักกันเฉยๆ?”

 

งานวิจัยจากแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ และ ดร.วันทิพย์ ชวลีมานนท์ ในหัวข้อ Similarity conquers all: A dyadic study of the Big Five’s extraversion similarity and the Michelangelo phenomenon on marital satisfaction in the Thai context ผนวกเอาแนวคิดทางจิตวิทยาที่สำคัญมาอธิบายถึงความสุขในคู่รักหรือคู่สมรสไว้อย่างน่าสนใจ

 

 

 

เติมเต็มเพื่อไปต่อ: ปรากฏการณ์ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo Phenomenon)


 

 

แนวคิดนี้ชื่ออาจฟังดูไกลตัว แต่สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกคน เมื่ออยู่ถูกที่ ถูกคน และถูกเวลา!

 

นักจิตวิทยาสังคมอธิบายว่า Michelangelo Phenomenon คือกระบวนการที่คู่รัก (หรือคนใกล้ชิด) ช่วย “สนับสนุน” และ “ส่งเสริม” ให้อีกฝ่ายพัฒนาไปสู่ “ตัวตนในอุดมคติ” (ideal self) หรือ “สิ่งที่เขาอยากเป็น” โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงเขาให้เป็นอย่างที่เราต้องการ พูดง่ายๆ คือ คนที่เรารักจะช่วยให้เรา “เป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด” ได้จริง

 

องค์ประกอบหลักของ Michelangelo Phenomenon ได้แก่

 

  1. Partner Affirmation (การยืนยันตัวตนในอุดมคติของอีกฝ่าย):
    การที่คนรัก “มองเห็น” ตัวตนอุดมคติของเรา และสนับสนุนพฤติกรรม คำพูด การตัดสินใจ หรือการเลือกต่าง ๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายเหล่านั้น
  2. Self-Movement Toward the Ideal Self (การเข้าใกล้ตัวตนในอุดมคติ):
    เมื่อได้รับการยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง เราจะรู้สึกมั่นใจ และมีแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่สิ่งที่เราใฝ่ฝันจริง ๆ เช่น กล้าทำงานใหม่ๆ หรือกล้าพัฒนาทักษะที่เราไม่เคยมีมาก่อน
  3. Dyadic Outcome (ผลลัพธ์ของคู่):
    เมื่อทั้งสองฝ่ายช่วย “แกะสลัก” กันและกันอย่างเข้าใจ ไม่บังคับ ความสัมพันธ์จะยิ่งแน่นแฟ้นและมีความสุขมากขึ้น

 

คู่รักที่เกิดปรากฏการณ์นี้ มักจะ “แกะสลัก” ตัวตนของอีกฝ่ายให้ค่อย ๆ ใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาอยากเป็น เหมือนศิลปินระดับโลก Michelangelo ที่แกะหินให้เป็นงานศิลปะ ซึ่งในบริบทของความสัมพันธ์แบบคู่รัก นั่นคือการ “ยืนยันตัวตน” ของกันและกัน (partner affirmation) เช่น สนับสนุนกันในสิ่งที่อีกฝ่ายวาดฝันไว้ ให้กำลังใจเวลาทำอะไรใหม่ๆ ไม่ตัดสิน และไม่ดูถูก การสนับสนุนในลักษณะนี้ทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้ง มีความหมาย และส่งผลต่อความยั่งยืนและความพึงพอใจในความสัมพันธ์เป็นอย่างมาก

 

ตัวอย่างในชีวิตจริง:

  • คนรักที่รู้ว่าเราฝันอยากเปิดร้านกาแฟ แล้วคอยสนับสนุนให้เราไปเรียนบาริสตา ชวนดูร้านต่าง ๆ และไม่มองว่านั่นเป็นความฝันไร้สาระ — นั่นคือเขากำลัง “ยืนยันตัวตนในอุดมคติ” ของเรา
  • หรือเมื่อคู่ของเรารู้ว่าเราพยายามควบคุมอารมณ์ เขาจึงไม่ตอกย้ำข้อผิดพลาด แต่ให้โอกาสและให้กำลังใจ — นั่นก็เป็นการช่วยให้เราเข้าใกล้กับตัวตนอุดมคติของเรา

 

ข้อสังเกตคือ Michelangelo Phenomenon ไม่ใช่การพยายามเปลี่ยนคนรักให้เป็นอย่างที่เราต้องการแต่เป็นการสนับสนุนให้เขาเป็นอย่างที่เขาอยากเป็นจริง ๆ เท่านั้น

 

 

 

“ความเหมือน” ที่ทำให้รักยืนยาว: บุคลิกภาพคล้ายกัน ช่วยให้ชีวิตคู่แฮปปี้จริงหรือ?


 

 

แนวคิดต่อมาที่ถูกหยิบมาเป็นฐานในการสร้างกรอบแนวคิดงานวิจัยชิ้นนี้ คือ ความเข้ากันได้หรือความคล้ายคลึงกัน (Similarity) ซึ่งงานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมจำนวนมากต่างก็พบหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า “ความเหมือนกัน” อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นและยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง “บุคลิกภาพ” (Personality) โดยในงานวิจัยนี้ ได้หยิบเอาบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ (Big Five Personality) ด้าน “ความเข้าสังคม” (Extraversion) มาศึกษา เนื่องด้วยผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบเข้าสังคม มักมีลักษณะเปิดเผย ร่าเริง เป็นมิตร อันเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ส่งผลต่อการสื่อสาร และการแสดงออกในความสัมพันธ์โดยตรง

 

นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังใช้วิธีการศึกษาแบบ Actor–Partner Interdependence Model (APIM) ซึ่งใช้ศึกษาความสัมพันธ์แบบคู่ได้อย่างซับซ้อนและละเอียดมากขึ้น ในกลุ่มตัวอย่าง “คู่แต่งงานใหม่” ชาวไทย จำนวน 201 คู่ (แต่งงานไม่เกิน 5 ปี อายุเฉลี่ย 31 ปี) โดยให้ทั้งสองฝ่ายประเมินบุคลิกภาพของตนเอง และคู่ของตน รวมถึงการรับ-ให้การยืนยันตัวตนในอุดมคติ และความพึงพอใจในชีวิตสมรส

 

ผลการวิจัย พบว่า สามีที่มีบุคลิกภาพแบบเข้าสังคมสูง และมีการยืนยันตัวตนในอุดมคติกับภรรยา จะรู้สึกพึงพอใจในชีวิตสมรสในระดับสูง ซึ่งอาจสะท้อนว่า “บทบาทผู้นำ” ที่มาพร้อมความเปิดเผยและการสนับสนุน ทำให้ชีวิตคู่มั่นคง ในขณะเดียวกันภรรยาที่มีบุคลิกภาพแบบเข้าสังคมสูง และมีการรับ-ให้การยืนยันตัวตนในอุดมคติแก่คู่ของตน ก็มีความสุขในชีวิตสมรสในระดับสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดจากพลังบวกที่ส่งไป-กลับในความสัมพันธ์นั่นเอง กล่าวได้ว่า คู่รักที่มีบุคลิกภาพ “คล้ายคลึงกัน” ด้านการเข้าสังคม จะยิ่งส่งเสริมกันได้ดีขึ้น เพราะเข้าใจกัน สื่อสารได้ราบรื่น ทำให้สามารถสนับสนุนคู่ของตน ผ่านการยืนยันตัวตนในอุดมคติ และโอกาส “เติบโตไปด้วยกัน” สูงและยั่งยืนกว่านั่นเอง

 

แม้ Michelangelo phenomenon จะเป็นแนวคิดที่มาจากโลกตะวันตก เน้นการเป็นตัวของตัวเอง แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า คนไทยก็มีรูปแบบการสนับสนุนคู่ชีวิตให้เติบโตได้เหมือนกัน แม้เราจะอยู่ในวัฒนธรรม “เกรงใจ-แคร์ความรู้สึก” แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้แสดงความรักผ่านการสนับสนุนแบบจริงใจ โดยเฉพาะในคู่ที่มี “ความคล้ายกัน” และ “สื่อสารกันได้ดี”

 

 

 

งานวิจัยชิ้นนี้ อาจสะท้อนให้เห็นว่า การเป็นคู่ที่มีความสุข ไม่ได้อยู่ที่แค่ “รักกัน” แต่เป็น “รักในแบบที่เข้าใจ และอยากให้เขาเติบโตไปสู่สิ่งที่เขาอยากเป็น” และหากคู่ของคุณมีนิสัยคล้ายกัน (เช่น เข้าสังคมพอกัน ไม่ใช่คนหนึ่งชอบปาร์ตี้ อีกคนชอบอยู่เงียบๆ) ก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่เสริมให้ “การยืนยันตัวตนในอุดมคติ” เป็นไปได้ง่ายมากขึ้น

 

หากคุณรู้สึกว่า คุณและคู่ของคุณ ต่างก็สนับสนุนให้แต่ละฝ่ายได้เป็นตัวของตัวเองเพื่อไปสู่เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของกันและกัน จนรู้สึกรักกันมากขึ้น คุณอาจจะเป็นนักแกะสลักตามแนวคิดปรากฏการณ์ “ไมเคิลแองเจโล” อยู่ก็เป็นได้นะคะ 😊

 

 

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่: https://so04.tci-thaijo.org/index.php/kjss/article/view/267905/180902

 

 

 

รายการอ้างอิง

Chawaleemaporn, W., & Isaranon, Y. (2023). Similarity conquers all: A dyadic study of the Big Five’s extraversion similarity and the Michelangelo phenomenon on marital satisfaction in the Thai context. Kasetsart Journal of Social Sciences, 44(3), 769–780. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/kjss/article/view/267905

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

รองคณบดี อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

ความดึงดูดใจระหว่างบุคคล – Interpersonal attraction

 

ความดึงดูดใจระหว่างบุคคล คือ แนวโน้มของบุคคลที่มีต่อการประเมินบุคคลหรือสัญลักษณ์ของบุคคลนั้นในทางบวกหรือทางลบ และอาจรวมถึงความรู้สึกและแนวโน้มของพฤติกรรมที่จะเข้าหาหรือหลีกเลี่ยงบุคคลนั้น

 

การอยู่ร่วมกันในสังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม ประเด็นสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลคือความรู้สึกประทับใจที่เกิดขึ้นเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งความดึงดูดใจระหว่างบุคคลเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้าแต่ละฝ่ายสามารถสร้างความชอบพอดึงดูดใจต่อกันได้ ย่อมเป็นโอกาสที่ดีต่อความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

 

 

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความชอบพอดึงดูดในนั้นมีดังต่อไปนี้

 

 

1. ความใกล้ชิดสนิทสนม (Proximity)

การที่บุคคลได้พบปะกันบ่อย ๆ เปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้กันมากขึ้น ทำให้ค้นพบว่ามีความสนใจ ความคิดเห็น และค่านิยมที่คล้ายคลึงกัน

 

2. ความคล้ายคลึง (Similarity)

เราชอบคนที่คล้ายคลึงกับเรา ไม่ว่าทางด้านเจตคติ ค่านิยม ความเชื่อ รวมไปถึงลักษณะทางสังคมวิทยา เช่น อายุ การศึกษา สถานภาพทางสังคม ยิ่งบุคคลมีความคล้ายคลึงกันมากเท่าไร ก็มีผลต่อความดึงดูดใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น อาจเป็นเพราะเราชอบความสัมพันธ์ที่สอดคล้องหรือสมดุล อีกทั้งคนที่มีความคล้ายคลึงกับเรายังช่วยสนับสนุนและยืนยันความถูกต้องต่อเจตคติและความเชื่อของเรา

 

3. การตอบแทนกัน (Reciprocity)

การที่เรารับรู้ว่าบุคคลอื่นนั้นชอบเรา เรามักจะชอบเขาตอบ และในทางตรงกันข้ามเมื่อเรารับรู้ว่าบุคคลนั้นไม่ชอบเรา เราก็มักจะไม่ชอบเขาเช่นกัน ความรู้สึกเหล่านี้เป็นการย้อนกลับซึ่งกันและกัน

 

4. ความดึงดูดในทางกายภาพ (Physical attractiveness) และ ลักษณะส่วนบุคคล (Personal characteristic)

สิ่งที่ปรากฏทางกายภาพเป็นสิ่งแรกที่เราสามารถสังเกตเห็น และเราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการรับรู้ว่า “สิ่งที่สวยงามเป็นสิ่งที่ดี” ธรรมชาติของคนเรามักชอบสิ่งที่สวยงามและมีแนวโน้มจะมีความลำเอียงไปทางบุคคลหรือสิ่งที่สวยงามได้ง่ายกว่า โดยการวิจัยพบว่าความดึงดูดใจทางกายภาพมีอิทธิพลต่อคนเราไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง แม้ว่าความต้องการคู่ครองที่มีความดึงดูดใจทางกายภาพของเพศหญิงจะมีน้อยกว่าของเพศชายก็ตาม

 

5. การเติมเต็มซึ่งกันและกัน (Complementarity)

เมื่อความต้องการของบุคคลสองคนเป็นไปในลักษณะที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ความดึงดูดใจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ความต้องการของบุคคลทั้งสองจะเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ก็ต่อเมื่อ 1) ความต้องการนั้นมีความแตกต่างไปในเรื่องของประเภท แต่มีระดับความต้องการพอ ๆ กัน เช่น คนที่ชอบดูแลผู้อื่นมากย่อมเข้าคู่กับคนที่ต้องการการดูแลมาก 2) ความต้องการนั้นจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน แต่มีระดับของความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น คนที่ชอบควบคุมผู้อื่นย่อมชอบพอคนที่ไม่ต้องการควบคุมใคร

 

 

 


 

 

 

ข้อมูลจาก

 

 

ธนิตา เบ็งสงวน. (2551). อิทธิพลของการพึ่งพาทางอารมณ์ เจตคติต่อบุคคลที่สาม และความคล้ายคลึงต่อความดึงดูดใจระหว่างบุคคล [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2008.258

 

อนุรักษ์ แท่นทอง. (2548). ความดึงดูดใจระหว่างบุคคลและรูปแบบความผูกพัน: รูปแบบที่คล้ายคลึงกับตน รูปแบบที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน และรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2005.173

 

ขอแสดงความยินดีกับ คุณนุสบา สมพานิช ในโอกาสได้รับทุน The 2025 FULBRIGHT Junior Research Scholarship Program

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ คุณนุสบา สมพานิช นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นิสิตในที่ปรึกษาของ ศ. ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ และ อ. ดร.พจ ธรรมพีร) ในโอกาสได้รับทุน The 2025 FULBRIGHT Junior Research Scholarship Program (JRS) เพื่อเดินทางไปทำงานวิจัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 เดือน

 

ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ ที่ได้ดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย”

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ที่ได้ดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย” วาระการดำเนินงานปี พ.ศ. 2568-2571

 

โดยมีพิธีส่งมอบตำแหน่งในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุมปาริชาต ชั้น 3 โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ

 

 

 

 

 

 

 

เมื่ออายุไม่ใช่ตัวเลข ทำไมความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างผู้ใหญ่และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจึงน่ากังวล

 

ปัจจุบันในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกโซเชียลมีเดียเริ่มมีการถกเถียง ตั้งคำถาม และแสดงความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาว (หรือแบบคู่รัก) ระหว่างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี (หรืออาจเกิน 18 ปีมาเล็กน้อย) และผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป แม้ความรักระหว่างคนที่บรรลุนิติภาวะ 2 คนที่ยินยอมโดยสมัครใจจะไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องจากอายุที่ให้ความยินยอมทางเพศได้ (age of consent) ในไทยอยู่ที่ 15 ปี (แต่เมื่อพรากผู้เยาว์ที่ต่ำกว่า 18 ปีสามารถถูกดำเนินคดีได้หากผู้ปกครองเป็นเจ้าทุกข์ต้องการจะเอาผิด) เสียงจากสังคมนี้เองสะท้อนถึงการตื่นรู้หรือมีการตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับอันตรายทางจิตใจและจริยธรรมที่มักแฝงอยู่ในความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับเด็กวัย 15-18 ปี ที่อาจดู ‘โตเป็นผู้ใหญ่’ แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (บางครั้งอาจรวมถึงคนที่เลยวัย 18 ปีมาเล็กน้อย)

 

ในมุมมองทางจิตวิทยา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ช่วงอายุที่แตกต่างกัน (age gap) แต่เป็นเรื่องของ อำนาจที่ไม่เท่าเทียม (power dynamic) การถูกชักจูงทางอารมณ์ (emotional manipulation) และการให้ความยินยอม (consent) ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

 

การชักจูงทางอารมณ์เกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าอายุจะต่างกันหรือไม่ แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นเด็กและอีกฝ่ายเป็นผู้ใหญ่ โอกาสในการเกิดการชักจูงทางอารมณ์จะสูงขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่อายุห่างกันจะเป็นปัญหา เช่น คนอายุ 18 และ 25 ปี ที่อยู่ในช่วงชีวิตใกล้เคียงกัน เช่น ทั้งคู่กำลังทำงาน หรือ ทั้งคู่กำลังเรียน อำนาจของแต่ละฝ่ายในความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ทำให้อาจไม่มีปัญหาก็เป็นได้ ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญไม่ใช่ว่าอายุห่างกันแค่ไหน แต่เป็นเรื่องของอำนาจที่ไม่เท่าเทียม วุฒิภาวะทางอารมณ์ และเจตนา

 

 

เด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนาการด้านอารมณ์ ความคิด และทักษะทางสังคม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสมองของคนเราจะพัฒนาอย่างเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การวางแผน และการประเมินความเสี่ยง เด็กอาจดูโตกว่าวัยหรือโตเป็นผู้ใหญ่จากการแต่งตัว ท่าทาง หรือความคิด ตัวเด็กเองอาจคิดว่าตัวเอง ‘เลือกเอง’ ‘ตัดสินใจเอง’ หรือ ‘คิดเองเป็น’ แต่ความจริงคือสมองของพวกเขายังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทำให้มีแนวโน้มที่จะหุนหันพลันแล่น เชื่อคนง่าย และอ่อนไหวต่อความสนใจจากผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้เด็กจึงมีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงได้ง่าย

 

ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุประมาณ 25 ปีขึ้นไปมักมีประสบการณ์ชีวิตที่มากกว่า มีการควบคุมอารมณ์ที่ดีกว่า หรือมีสถานะทางสังคมสูงกว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงอำนาจที่มากกว่า ความสัมพันธ์แบบนี้จึงมี ‘ความไม่เท่าเทียม’ แฝงอยู่ตั้งแต่เริ่มต้น แม้ภายนอกจะดูเป็นความสัมพันธ์ที่สมัครใจ เด็กดูน่าที่จะให้ความยินยอมหรือปฏิเสธได้ แต่แท้จริงแล้วผู้ใหญ่มักเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า และจุดนี้เองมีผลต่อความสามารถในการให้ ‘การยินยอมอย่างแท้จริง’ ของเด็ก เพราะเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีอำนาจที่มากกว่า โอกาสที่อีกฝ่ายจะถูกชักจูงย่อมมีมากกว่าเสมอไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ในความสัมพันธ์เช่นนี้ มักมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การล่อลวง หรือ กรูมมิ่ง (grooming)’

 

 

‘การล่อลวง หรือ กรูมมิ่ง (grooming) ไม่ใช่การแสดงความรัก ความห่วงใย หรือความเอาใจใส่แบบทั่วไป แต่คือ กระบวนการที่ผู้ใหญ่ค่อย ๆ สร้างความไว้วางใจและความผูกพันทางอารมณ์กับเด็ก เพื่อที่จะสามารถควบคุมให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางที่ตนต้องการ โดยส่วนมากจะรวมไปถึงเรื่องทางเพศที่มักจะเป็นการเอาเปรียบโดยที่เด็กอาจไม่รู้ตัว ซึ่งมีลักษณะดังนี้ (อ้างอิงจากคู่มือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย)

 

  1. การเลือกคนที่มีจุดเปราะบาง – เลือกเด็กที่เหงา ขาดความมั่นใจ และต้องการการยอมรับจากผู้ใหญ่
  2. การสร้างความไว้วางใจ – มีการให้คำชม ของขวัญ หรือความสนใจ ใส่ใจมากเป็นพิเศษเพื่อให้เด็กไว้วางใจ
  3. การเป็นที่พึ่งทางใจ – ทำตัวเป็นคนที่ ‘เข้าใจ’ และเป็นที่พึ่งพิงทางอารมณ์ของเด็ก
  4. การแยกเด็กออกจากคนรอบข้าง – ค่อย ๆ ทำให้เด็กแยกห่างออกจากเพื่อน ครอบครัว หรือวงสังคมอื่น ๆ
  5. การนำเรื่องทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง – เริ่มพูดเรื่องเพศ ในลักษณะล้อเล่น หรือแตะเนื้อต้องตัว และมักจะโทษเด็ก (ว่าคิดมากไปเองหรือโทษว่าไม่รักกันมากพอ) หากเด็กปฏิเสธหรือไม่ยินยอม

 

แม้เด็กจะคิดว่าตัวเอง ‘รัก’ หรือ ‘เต็มใจ’ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าการชักจูงทางอารมณ์สามารถแฝงอยู่ได้ในหลากหลายรูปแบบ ผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดที่จีบหรือชอบเด็กในวัยนี้ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ สิ่งที่เป็นอันตรายคือการพยายามทำให้ ‘ความห่วงใย’ และ ‘การควบคุม’ เป็นเรื่องเดียวกัน อาจทำตัวเป็นเหมือน ‘เพื่อนคนพิเศษ’ ที่เข้าใจเด็ก แต่กลับละเมิดเด็กโดยการนำเรื่องทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการแยกเด็กออกจากสังคม

 

การปฏิเสธหรือการไม่ให้ความยินยอมอาจทำได้ยากเพราะเด็กอาจถูกบิดเบือนให้ ‘รู้สึกผิด’ (gaslight) ว่าตัวเองปฏิเสธความรักความห่วงใจที่อีกฝ่ายมีให้ ผนวกกับพัฒนาการทางสมองที่อาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ และอำนาจที่ไม่เท่าเทียมจากสถานะทางสังคม ทำให้อาจกล่าวได้ว่า แท้จริงแล้วนั้นเด็กหรือวัยรุ่นยังไม่โตหรือมีวุฒิภาวะมากพอที่จะมองเห็นสัญญาณอันตรายหรือรับมือกับการควบคุมที่แฝงอยู่ในความสัมพันธ์ และด้วยเหตุนี้เองการให้ความยินยอมอย่างแท้จริง (consent) นั้นเป็นไปได้ยากมากในความสัมพันธ์เช่นนี้

 

 

เพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดังขึ้นและเงียบไปในสังคม เราทุกคนสามารถมีบทบาทในการช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ได้ ดังนี้

 

  • ตั้งคำถามกับความเชื่อว่า “ความรักต่างวัยแบบนี้เป็นเรื่องปกติ” โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายยังเป็นเด็ก
  • ระบุให้ชัดในสิ่งที่มันเป็น : ผู้ใหญ่ที่พยายามมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเด็กไม่ใช่เรื่องโรแมนติก แต่มันคือ สัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง
  • ให้ความรู้กับเด็ก : สอนเรื่องขอบเขตทางร่างกาย อารมณ์ พื้นที่ส่วนบุคคล ความสัมพันธ์ที่ดี (healthy relationship) และสัญญาณเตือนของการล่อลวงหรือกรูมมิ่ง
  • ให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ที่เคยเผชิญเหตุการณ์หรือกล้าเล่าเรื่องของตัวเอง : ไม่ว่าพวกเขาจะดูเหมือน “ยินยอม” หรือ “ไม่ได้ขัดขืน” ในเวลานั้น สิ่งสำคัญคือการฟังโดยไม่ตัดสิน
  • อย่าตำหนิแต่อย่าเงียบเฉย : เด็กบางคนอาจยังไม่เห็นสัญญาณอันตรายในทันที แทนที่จะตำหนิว่ากล่าวหรือทำให้อับอาย ควรพูดคุยกับเขาด้วยความเข้าใจและเห็นใจ ชวนให้เขาตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์นั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าถูกผลักไสหรือโดนตัดสิน
  • อย่าเหมารวมหรือตำหนิคู่รักต่างวัยทุกคู่ : ช่องว่างระหว่างวัยของคู่รักไม่ใช่ปัญหาเสมอไป แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังเป็นเด็กต่ำกว่า 18 ปี (และอีกฝ่ายเป็นผู้ใหญ่ที่อายุต่างกันมาก) เราอาจต้องเฝ้าระวังใช้การถามด้วยความใส่ใจ ไม่ใช่ด้วยการตัดสิน

 

 

เรื่องนี้ไม่ใช่การต่อต้านคู่รักต่างวัย ห้ามไม่ให้คนมีความรัก หรือการมองว่าคู่รักต่างวัยเป็นเรื่องผิดเสมอไป แต่คือการปกป้องเด็กและเยาวชนจากความสัมพันธ์ที่อาจทำร้ายและทำลายชีวิตและการเติบโตของพวกเขา ในวันที่สังคมไทยเริ่มตื่นรู้และพร้อมที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงเวลาที่เราจะไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณอันตรายเหล่านี้เพราะความรักไม่ควรตั้งอยู่บนความไม่เท่าเทียมของอำนาจ


 

 

บทความโดย
อาจารย์ ดร.รพินท์ภัทร์ ยอดหล่อชัย
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

โครงการส่งเสริมสุขภาวะทางจิต From Storm to Still: Reclaiming Your Mind

 

ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมโครงการส่งเสริมสุขภาวะทางจิต

From Storm to Still: Reclaiming Your Mind ทุกวันเสาร์ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้

 

  • สถานที่: ณ ห้องประชุม 407 ชั้น 4 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อัตราค่าลงทะเบียน: หัวข้อละ 1,000 บาท (รวมอาหารว่าง และเอกสารประกอบการบรรยาย)

 

 


 

 

Breathe Again: ปลดล็อกจากความวิตกกังวล

  • วันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 – 12.00 น.
  • วิทยากร: รศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

สมัคร https://forms.gle/VzMHeuzKDRJdWfaj6

Don’t worry, Be Matcha:
Finding Peace Through Matcha moment

  • วันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.30 – 15.30 น.
  • โดย ทีมนักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต

สมัคร https://forms.gle/YvxECcgqjwmjEz1D8

 

See Through the Fog: มองเห็นความหวังในภาวะซึมเศร้า

  • วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 – 12.00 น.
  • วิทยากร: รศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

สมัคร https://forms.gle/79b4vzCXM2yxDK1L8

The Blooming Self: A Reflective Journey Told in Florals

  • วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.30 – 15.30 น.
  • โดย ทีมนักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต

สมัคร https://forms.gle/CjVx94J1LGHrvBMX9

 

Quiet the Storm: จัดการความเครียดอย่างยั่งยืน

  • วันเสาร์ ที่ 19 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 – 12.00 น.
  • วิทยากร: รศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

สมัคร https://forms.gle/u2EzKXE7CfEgeV8B7

Stitch & Stillness:
Balance the Stress with the Thread You Hold

  • วันเสาร์ ที่ 19 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.30 – 15.30 น.
  • โดย ทีมนักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต

สมัคร https://forms.gle/cJHM7dLFPYnaWaUq9

 

Light the Fire Within: ก้าวข้ามภาวะหมดไฟ

  • วันเสาร์ ที่ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 – 12.00 น.
  • วิทยากร: รศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

สมัคร https://forms.gle/PN6B5ysZUstLsGX1A

Pause. Paint. Proceed:
Rekindling Meaning Through Creative Rest

  • วันเสาร์ ที่ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.30 – 15.30 น.
  • โดย ทีมนักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต

สมัคร https://forms.gle/pmGZVJVn5NYX265c6

 

 


 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา

เบอร์โทรศัพท์: 061-736-2859

อีเมล: psywellnessworkshop@gmail.com

 


 

 

 

ขอแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 53 ปี แห่งการสถาปนาคณะนิติศาสตร์

 

วันที่ 18 มิถุนายน 2568 ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วย คุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ และคณะผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 53 ปี แห่งการสถาปนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้อง Law Chula Learning Space ชั้น 1 อาคารเทพทวาราวดี

 

 

 

 

 

 

สื่อออนไลน์กับพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น : ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและเหมาะสมกับพัฒนาการ

 

ชีวิตคนในยุคนี้ ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นการเสพสื่อออนไลน์ผ่านหน้าจอมือถือ (ที่แปลว่าพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ เสพสื่อกันได้แบบไม่จำกัดเวลาและสถานที่) การดูสื่อ วิดีโอ content ต่าง ๆ ผ่านหน้าจอมือถือได้กลายเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ยกเว้นอินเทอร์เน็ตล่ม หรืออินเทอร์เน็ตหมด

 

สื่อออนไลน์นั้นมีหลายประเภท บ้างเปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้คนดูสื่อได้อย่างกว้างขวาง บ้างเป็นแรงบันดาลใจ บ้างก็มีไว้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น กล่าวคือการเสพสื่อนั้นมีทั้งคุณและโทษ ก็สุดแท้แต่ว่าผู้ใช้จะใช้อย่างไร หากใช้อย่างเหมาะสมก็จะส่งเสริมและสนับสนุนชีวิตของคนนั้น ๆ ในทางกลับกันหากใช้อย่างไม่เหมาะสม … ชีวิตก็อาจแย่ได้เช่นกัน

 

ในมุมมองของจิตวิทยาพัฒนาการ คนในแต่ละช่วงวัยมีแนวทางการเสพสื่ออย่างได้ประโยชน์และโทษแตกต่างกันไปตามขั้นพัฒนาการ บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักการเสพสื่อที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัยโดยจะอธิบายควบคู่กับขั้นพัฒนาการทางปัญญาตามทฤษฎีของ Piaget

 

 

วัยเด็กทารก (แรกเกิด – 2 ปี)


 

ตามทฤษฎีพัฒนาการทางปัญญาของ Piaget เด็กวัยนี้อยู่ในช่วง Sensorimotor stage ซึ่งเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส อย่างการมอง การฟัง การสัมผัส และการพยายามเลียนแบบคนรอบข้างตามที่เคยเห็น ซึ่งสมองของเด็กวัยนี้จะได้รับประโยชน์ที่สุดจากประสบการณ์ตรง ดังนั้นสื่อหน้าจอที่ไม่ตอบโต้กับเด็ก แต่เพียงแค่มีตัวการ์ตูนวิ่งไปมาในหน้าจอ 2D จึงไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่เด็กวัยนี้

 

งานวิจัยพบว่าเด็กช่วงอายุ 2 ขวบปีแรกจะยังมีข้อจำกัดที่เรียกว่า Video Deficit Effect หรือคือการเด็กเรียนรู้จากวิดีโอได้แย่กว่าเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ สาเหตุหลัก ๆ อาจมาจากการที่เด็กยังแยกแยะของจริงกับภาพในจอไม่ได้ และเด็กวัยนี้เรียนรู้จากคนที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น การมองจ้องตากัน ผู้ใหญ่พูดเสียงสูงบ้างเสียงต่ำบ้าง แล้วเว้นจังหวะ รอให้เด็กส่งเสียงตอบกลับมา เป็นต้น การที่วิดีโอไม่ได้โต้ตอบกับเด็กไม่สามารถช่วยให้เด็กวัยนี้เรียนรู้หรือทำตามได้ โดย Video Deficit Effect นี้จะเริ่มหายไปเมื่อเด็กอายุเข้าประมาณ 2 ปีครึ่ง

 

ข้อแนะนำของ American Academy of Pediatrics (AAP) ได้เสนอว่าเด็กวัยแรกเกิดถึง 2 ปี ไม่ควรดูหน้าจอเลย ยกเว้นการวิดีโอคอลที่เป็นการสื่อสาร 2 ทาง มีการพูดคุยโต้ตอบ โบกไม้โบกมือให้เด็ก ซึ่งก็สอดคล้องกับทฤษฎีทางจิตวิทยาพัฒนาการตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

 

 

วัยเด็กเล็ก (2 – 7 ปี)


 

เมื่อผ่านพ้นช่วงวัย 2 ขวบปีแรกมาแล้ว Piaget เรียกขั้นพัฒนาการในช่วงวัยนี้ว่า Preoperational stage ซึ่งเด็กวัย 2 – 7 ปี จะเริ่มเข้าใจว่าภาพ สัญลักษณ์ และภาษา สามารถเป็นตัวแทนในการสื่อถึงสิ่งต่าง ๆ ได้ จึงเป็นช่วงวัยที่เริ่มได้ประโยชน์จากการดูสื่อหน้าจออยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามเด็กช่วง 2 – 7 ปี นี้ก็ยังต้องการการอธิบายและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง และการเล่นตามจินตนาการเป็นหลักอยู่ดี เพื่อเสริมความรู้ และความเข้าใจในคน สัตว์ สิ่งของ และเพื่อฝึกทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในโลกความเป็นจริง

 

สื่อที่เหมาะสมกับเด็กช่วงวัยนี้อาจเป็นสื่อการ์ตูน ตุ๊กตาสัตว์ต่าง ๆ หรือจะเป็นคนจริง ๆ ก็ได้ มีเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน เข้าใจง่ายตรงไปตรงมา และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เช่นมีการเว้นจังหวะเพื่อให้เด็กหาของในหน้าจอ แล้วจึงหยิบของสิ่งนั้นมาจริง ๆ ให้เด็กดู ใช้คำพูดซ้ำ ๆ ใช้เสียงสูงเสียงต่ำเรียกความสนใจจากเด็ก พูดชัดถ้อยชัดคำ มีการแสดงออกที่ชัดเจน (เล่นใหญ่) ดีใจก็ให้เห็นชัดว่าดีใจ มีความสุข ถ้าบทเศร้าก็แสดงให้ชัดว่าเศร้า หรือเสียใจ พร้อมพูดระบุอารมณ์ที่แสดงให้ชัดเจน เป็นต้น

 

AAP แนะนำว่าในช่วงวัย 2 – 7 ปีนี้ ให้ใช้หน้าจอได้ไม่เกิน วันละ 1 ชั่วโมง โดยอาจแบ่งเป็นครั้งละไม่เกิน 15 – 30 นาที และผู้ใหญ่ควรอยู่ด้วยเพื่อช่วยเชื่อมโยงเนื้อหาในสื่อกับชีวิตจริง เช่น ถ้าดูคลิปสัตว์ อาจถามคำถามเสริมว่า “เคยเห็นตัวนี้ไหม?” หรือชวนคุยชวนคิดด้วยเรื่องง่าย ๆ เช่น “สัตว์ตัวนี้ส่งเสียงร้องยังไงน้า” เป็นต้น หรือถ้าเป็นสื่อแบบเด็กมีปฏิสัมพันธ์ได้ด้วย เช่นให้หาของ แทนที่จะหาของจากแค่หน้าจอ ก็ให้เด็กลองหาของชิ้นนั้นในบ้านจริง ๆ ดู (ถ้ามี) เพื่อให้สมองของเด็กเกิดการเชื่อมโยง สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่จดจำภาพหรือเพื่อความเพลินตาเฉย ๆ

 

นอกจากนี้ เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ตรรกะการคิดเชิงเหตุผล แบบวิทยาศาสตร์ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีข้อจำกัดในการแยกแยะสิ่งที่เห็นในสื่อกับความเป็นจริง ผู้ปกครองและเราผู้ใหญ่จึงควรระมัดระวัง และช่วยเป็นหูเป็นตาเรื่องการเข้าถึงสื่อของเด็ก และช่วยกันสอดส่องไม่ให้เด็กไปเลียนแบบพฤติกรรมที่เป็นอันตราย ดังคำกล่าวที่ว่า เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน ถ้าสังคมปลอดภัยมากกว่าเป็นภัย เด็ก ๆ ของเราก็จะเติบโตได้ดีกว่า และปลอดภัยกว่า

 

 

วัยเด็กโต (7 – 11 ปี)


 

Piaget เรียก พัฒนาการขั้นนี้ว่า Concrete operational stage เป็นขั้นพัฒนาการที่เด็กเริ่มคิดได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น มีความเข้าใจเหตุและผลมากขึ้น แต่อาจยังไม่เข้าใจเรื่องที่เป็นนามธรรม หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (เช่น การแตกแรงตามกฎทางฟิสิกส์) แต่เด็กจะพอมีวิจารณญาณ มีความเอ๊ะ ความสงสัยว่าสิ่งที่เห็นนี้จริงหรือไม่ได้อยู่บ้าง ในช่วงวัยนี้ ผู้ปกครองอาจเลือกสื่อที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้มากขึ้น (เช่น คลิปวาดรูป ทำขนม เล่นดนตรี เป็นต้น) มากกว่าสื่อที่ให้ความบันเทิง ส่วนสื่อที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์อาจไม่ดึงดูดความสนใจของเด็กวัยนี้เท่าไรแล้ว เด็กวัยนี้จะสามารถเข้าใจสื่อที่มีเนื้อเรื่องซับซ้อนพอประมาณ มีตัวละครเยอะ ๆ แต่ละตัวละครมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ กันได้อย่างสนุกแล้ว (วัยก่อนหน้านี้ก็ดูได้ แต่อาจจะไม่เข้าใจเรื่อง จะเน้นชอบตัวการ์ตูนที่สวย ๆ น่ารัก ๆ แต่อาจยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละคร) เช่น การ์ตูน animation ต่าง ๆ หรือละครคนแสดง ละครคุณธรรมต่าง ๆ ก็สามารถดูได้อย่างเข้าใจ ได้น้ำได้เนื้อแล้วในช่วงวัยนี้

การอธิบาย หรือชวนคิดชวนคุยก็ยังคงจำเป็นอยู่ แต่อาจใช้คำถามที่ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น เช่น “ทำไมพิน็อคคิโอถึงโกหก” การถามคำถามลักษณะนี้เราอาจไม่ได้หวังคำตอบที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบจากเด็ก แต่พ่อแม่จะได้รู้ว่าลูกคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจพัฒนาการความคิดของลูกได้ดีขึ้น นอกจากนี้เด็กวัยนี้มักเริ่มเล่นเกมหรือใช้โซเชียลมีเดียกับเพื่อน ๆ เริ่มสร้างตัวตนของตัวเองในโลกออนไลน์ เริ่มอยากรู้อยากลองทำอะไรที่คิดว่าเจ๋ง (แต่ความจริงอันตราย)

 

ดังนั้นการคัดกรองเนื้อหา การจำกัดเวลาใช้สื่อออนไลน์เพื่อความบันเทิงไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เน้นการมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย การตั้งกติกาในการใช้สื่อออนไลน์ที่ทุกคนในบ้านใช้ร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรกำหนดและใส่ใจตั้งแต่วัยนี้ และควรสื่อสารให้เด็กเข้าใจว่าความสัมพันธ์ที่ดีในโลกจริงสำคัญกว่าจำนวนคนกดหัวใจหรือการเอาชนะกันในโพสต์ หรือในเกม

 

 

วัยรุ่น (11 ปีขึ้นไป)


 

วัยรุ่นเริ่มเข้าสู่ Formal operational stage ซึ่งสามารถคิดเชิงนามธรรมได้แล้ว มีความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เริ่มคิดเป็นเหตุเป็นผล เชิงวิทยาศาสตร์ สามารถตั้งสมมติฐานต่อเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือเรียกว่ามีวิจารณญาณพื้นฐานมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีคนสอน ไม่เคยมีคนอธิบายเหตุและผล หรือไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ก็อาจยังเกิดความผิดพลาดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้อยู่ นอกจากนี้การใช้สื่อออนไลน์จะมีความซับซ้อนมากขึ้นอีก มีกิจกรรมต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์ที่คล้ายคลึงกับเนื้อหาที่ผู้ใหญ่เสพมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างตัวตนทั้งชีวิตจริงและโลกออนไลน์อย่างมาก ผลการทบที่เกิดจากสังคมออนไลน์ เช่น comment ต่อว่า ด้อยค่า โจมตี มีผลอย่างมากต่อสุขภาวะและมุมมองต่อตนเองของเด็กวัยรุ่น นอกจากนี้การได้รับการยอมรับจากสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กวัยรุ่นมักโหยหา และอาจยอมทำพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับ วัยรุ่นต้องการคำแนะนำ แนวทาง และกรอบในการใช้งานสื่อออนไลน์ อย่างปลอดภัย ไม่เบียดเบียนการนอน การพักผ่อน การเรียน และสุขภาวะ พ่อแม่จึงควรเป็นผู้ฟังที่ดี ไว้ใจได้ มีจังหวะ มีกุศโลบายในการแนะนำและสนับสนุน ไม่ควรห้ามหรือดุตลอดเวลา เพราะ วัยรุ่นต้องการการยอมรับ และมีอิสระในการคิด

 

ในช่วงวัยนี้อาจไม่ได้มีข้อแนะนำที่ตายตัวว่าวัยรุ่นควรจำกัดการดูสื่อออนไลน์กี่ชั่วโมงต่อวัน เคยมีการตั้งไว้ที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน แต่สุดท้ายโลกความเป็นจริงก็ไม่สารมารถจะจำกัดเวลาในการใช้งานได้ขนาดนั้น เพราะสมัยนี้คนเรา ก็ต้องใช้สื่อออนไลน์ในการทำงาน ทำการบ้าน พัฒนาตัวเองร่วมด้วย งานวิจัยพบว่าแทนที่จะจำกัดเวลาการใช้สื่อออนไลน์อย่างเด็ดขาดในวัยรุ่น ควรใช้วิธี co-viewing หรือ ดูไปด้วยกันและพูดคุยกัน กำหนดจำนวนการใช้สื่อออนไลน์ที่ทุกคนในบ้านทำตามได้ (พ่อแม่เองก็ควรเสพสื่อออนไลน์อย่างพอดีด้วย) และให้มีกิจกรรมในครอบครัวที่หลากหลาย ให้ความสำคัญกับการมีกิจวัตรประจำวันที่สมดุลในครอบครัวจะช่วยให้วัยรุ่นมีพัฒนาการและสุขภาวะที่ดีกว่า

 

 

Asian mother enjoy teach and explain homework to child daughter for online study during homeschooling at home home quarantine online learning new normal lifestyle

 

 

ทุกช่วงวัยมีพัฒนาการเฉพาะที่ต้องการการเรียนรู้จากโลกจริง การวิ่งเล่น การพูดคุย การทำกิจกรรมร่วมกัน และการฝึกทักษะในชีวิตจริง ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าและมีผลดีต่อชีวิตในองค์รวมมากกว่าการนั่งหน้าจอโดยลำพัง

 

สุดท้ายนี้สื่อออนไลน์ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่ควรใช้ให้เหมาะกับวัย และอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำที่เหมาะสม

 

 

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

American Academy of Pediatrics. (22 May 2025). Screen Time Guidelines. Retrieved 13 Jun 2025 from https://www.aap.org/en/patient-care/media-and-children/center-of-excellence-on-social-media-and-youth-mental-health/qa-portal/qa-portal-library/qa-portal-library-questions/screen-time-guidelines/

 

Anderson, D. R., & Hanson, K. G. (2010). From blooming, buzzing confusion to media literacy: The early development of television viewing. Developmental Review, 30(2), 239-255. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.dr.2010.03.004

 

Moreno, M. A., Binger, K., Zhao, Q., Eickhoff, J., Minich, M., & Uhls, Y. T. (2022). Digital Technology and Media Use by Adolescents: Latent Class Analysis. JMIR Pediatr Parent, 5(2), e35540. https://doi.org/10.2196/35540

 

Orben, A., Przybylski, A. K., Blakemore, S.-J., & Kievit, R. A. (2022). Windows of developmental sensitivity to social media. Nature Communications, 13(1), 1649. https://doi.org/10.1038/s41467-022-29296-3

 


บทความโดย

อาจารย์ ดร.พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์
อาจารย์ประจำแขนงจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้อำนวยการศูนย์ Life Di (บริหาร)

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันเอเชียศึกษา

 

วันที่ 13 มิถุนายน 2568 ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วย คุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้อง Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาฯ